ผลการให้ความรู้ร่วมกับการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ต่อความรู้และการปฏิบัติของผู้ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

Authors

  • สุสัณหา ยิ้มแย้ม
  • อัญชนา โตศิลากุล
  • สุธิศา ล่ามช้าง

Abstract

การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ต่อความรู้และการปฏิบัติของผู้ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวีที่มาดูแลผู้ป่วยขณะเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม 3 โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ระหว่าง เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2543 ถึงเดือน มิถุนายน พ.ศ.2544 จำนวน 20 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการทดลอง ได้แก่ วีดิทัศน์การให้ความรู้และการปฏิบัติในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวีเสนอโดยตัวแบบ และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ดูแลและผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวีแบบทดสอบความรู้ในการป้องกันติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่านได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 0.89 ค่าความเชื่อมันของแบบประเมินความรู้เท่ากับ .077 และแบบสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อของผู้ดูแลเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีมีค่าสัมประสิทธิ์ของความสอดคล้องเท่ากับ 1.0 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม

ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยความรู้ของผู้ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวีทันทีหลังการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ผ่านสื่อวิดีทัศน์สูงกว่าก่อนการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ผ่านสื่อวิดีทัศน์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คะแนนเฉลี่ยความรู้ของผู้ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวีหลังการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ผ่านสื่อวิดีทัศน์ 2 สัปดาห์สูงกว่าก่อนการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ผ่านสื่อวิดิทัศน์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 คะแนนเฉลี่ยความรู้ของผู้ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวีหลังการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ผ่านสื่อวิดิทัศน์ 2 สัปดาห์ไม่แตกต่างจากหลังการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ผ่านสื่อวิดิทัศน์ทันทีคะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติของผู้ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวีภายใน 1 สัปดาห์ หลังการเสนอตัวแบบ สัญลักษณ์ผ่านสื่อวีดิทัศน์ สูงกว่าภายใน 1 สัปดาห์ก่อนการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ผ่านสื่อวิดิทัศน์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ผ่านสื่อวิดิทัศน์ ทำให้ผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวีมีความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสถูกต้องเพิ่มมากขึ้นจึงควรนำวิดิทัศน์ตัวแบบนี้ไปเป็นแนวทางในการเพิ่มพูนความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวีและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิจัยครั้งต่อไป

คำสำคัญ : ตัวแบบสัญลักษณ์,ผู้ดูแล,การป้องกันการติดเชื้อ,ผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวี

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

Published

2012-08-26

How to Cite

1.
ยิ้มแย้ม ส, โตศิลากุล อ, ล่ามช้าง ส. ผลการให้ความรู้ร่วมกับการเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ต่อความรู้และการปฏิบัติของผู้ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล. J Thai Nurse midwife Counc [Internet]. 2012 Aug. 26 [cited 2024 Dec. 23];16(4):65. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/view/2350