การจัดการศึกษาการผดุงครรภ์ในประเทศไทย
Abstract
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาโดยวิธีผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิชาการผดุงครรภ์ ศึกษาปัญหาอุปสรรค และวิธีการแก้ไขสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับหัวหน้าภาควิชา อาจารย์ที่สอนและนิเทศวิชาการผดุงครรภ์ จำนวน 5 คน เป็นอาจารย์ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย 2 คน และสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3 คน และการสนทนากลุ่มกับอาจารย์ที่สอนวิชาการผดุงครรภ์จำนวนทั้งสิ้น 9 คน ขั้นตอนที่สองเป็นการรวบรวมข้อมูลจากหัวหน้าภาควิชา อาจารย์ นักศึกษา พยาบาลที่สำเร็จการศึกษาแล้วอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงาน 1-3 ปี และผู้บังคับบัญชาหรือผู้ร่วมงานของพยาบาลกลุ่มนี้จำนวนทั้งสิ้น 589 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่คณะผู้วิจัยได้พัฒนามาจากการศึกษาในขั้นตอนแรก การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพกระทำโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ค่าความถี่ และร้อยละ ระยะที่สองเป็นการตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากระยะที่หนึ่งเพื่อยืนยังความถูกต้องของผลการวิจัยตลอดจนให้ข้อคิดเห็นในประเด็นที่ศึกษาโดยการจัดสัมมนาผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพยาบาลและพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานแผนกสูติกรรมของโรงพยาบาลในระดับต่างๆ จำนวน 52 คน ผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้
โดยภาพรวมแล้วจำนวนหน่วยกิตและกระบวนวิชาการผดุงครรภ์แต่ละสถาบันทางการศึกษาเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพของสภาการพยาบาล ในภาคทฤษฎีนั้นส่วนใหญ่เนื้อหามีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เนื้อหาวิชามากซ้ำซ้อน สลับซ้ำซ้อนเข้าใจยาก วิธีการสอนส่วนใหญ่ในการบรรยายเป็นหลัก เนื่องจากมีข้อจำกัดด้วยผู้เรียนที่มีจำนวนมาก สื่อการสอนที่ใช้มากที่สุด คือแผ่นใสและสไลด์ บางสถาบันยังมีตำราในห้องสมุดน้อย ไม่ทันสมัย และไม่เพียงพอ ส่วนภาคปฏิบัตินั้นสถาบันส่วนใหญ่จัดให้ฝึกปฏิบัติในชั้นปีที่ 3 อย่างไรก็ตามหลายสถาบันจะเริ่มฝึกปฏิบัติในชั้นปีที่ 2 ซึ่งพบว่านักศึกษามีความเครียดในการปฏิบัติงานมากเนื่องจากความรู้และทักษะการพยาบาลพื้นฐานไม่เพียงพอ ยังไม่มีความพร้อมด้านวุฒิภาวะ ดังนั้นจึงเสนอแนะว่าควรจัดให้ฝึกปฏิบัติในชั้นปีที่ 4 และควรมีการฝึกปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับประสบการณ์ในการทำคลอดนั้น นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติน้อยมากเนื่องจากจำนวนผู้มารับบริการลดลง สถานที่ฝึกปฏิบัติงานทีความหลากหลายและบางแห่งอยู่ไกลและไม่ได้กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานไว้สำหรับแนวทางในการจัดการศึกษาวิชาผดุงครรภ์นั้นส่วนใหญ่ต้องการให้แยกเป็นหลักสูตรเฉพาะทางหลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี
คำสำคัญ : การจัดการศึกษาผดุงครรภ์,การผดุงครรภ์