ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้อาการนำ การสนับสนุนทางสังคม และการจัดการกับอาการด้วยตนเองของผู้ป่วยจิตเภท
Abstract
การวิจัยเชิงบรรยายครั้งนี้ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้อาการนำของโภค การได้รับการสนับสนุนทางสังคมและการจัดการกับอาการด้วยตนเองของผู้ป่วยจิตเภท กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเภทที่มารับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก ณ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์และสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจง จำนวน 100 ราย เครื่องมือวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินการรับรู้อาการนำของโรค แบบสอบถามการได้รับการสนับสนุนทางสังคม และแบบประเมินการจัดการกับอาการของโรคด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่า ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และวิเคราะห์การถดถอยพหุ
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างรับรู้อาการนำโดยรวมอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ได้รับสนับสนุนทางสังคมในระดับค่อนข้างสูงและสามารถจัดการกับอาการด้วยตนเองในระดับค่อนข้างต่ำ การรับรู้อาการนำและการได้รับการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการจัดการกับอาการด้วยตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) การรับรู้อาการนำสามารถอธิบายความแปรปรวนของการจัดการกับอาการด้วยตนเองได้ร้อยละ 14.7 (p<.05) และการรับรู้อาการนำกับการได้รับการสนับสนุนทางสังคมสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของการจัดการกับอาการด้วยตนเองได้ร้อยละ 29.4 (p<.05)
ผลการวิจัยให้ข้อเสนอแนะว่า การพัฒนาความสามารถในการจัดการกับอาการด้วยตนเองของผู้ป่วยจิตเภท ควรมีการฝึกให้ผู้ป่วยมีทักษะในการประเมินอาการนำก่อนที่อาการจิตจะรุนแรงร่วมกับการส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยในการจัดการกับอาการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
คำสำคัญ : การรับรู้อาการนำ,การสนับสนุนทางสำคัญ,การจัดการกับอาการด้วยตนเอง,ผู้ป่วยจิตเภท