ความชุกของการถูกทำร้ายในหญิงตั้งครรภ์ ปัจจัยเสี่ยงการปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์และผลทางจิตสังคม

Authors

  • นันทนา ธนาในวรรณ

Abstract

ความรุนแรงจากการถูกทำร้ายในคู่สมรสขณะตั้งครรภ์จัดเป็นปัญหาสังคมและปัญหาสุขภาพทั้งแก่มารดาและทารกในครรภ์ วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงสำรวจภาคตัดขวางครั้งนี้เพื่อศึกษาความชุกของการถูกทำร้ายในหญิงตั้งครรภ์และความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงจากการถูกทำร้ายกับปัจจัยเสี่ยงการปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์และผลทางจิตสังคม กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์จำนวน 600 คน จากหน่วยฝากครรภ์ โรงพยาบาลศิริราช โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปของมารดา ปัจจัยเสี่ยงการปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์ และการสัมภาษณ์เกี่ยวกับการถูกทำร้าย ความรุนแรงของการถูกทำร้ายและผลทางจิตสังคม

ผลการวิจัยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 25 เคยถูกทำร้ายอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ร้อยละ 142 ถูกทำร้ายในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ร้อยละ 4 ถูกทำร้ายในขณะตั้งครรภ์ และร้อยละ 14.7,9.3 และ 9.8 ถูก ทำร้ายทางกาย ทางเพศ และทางจิตใจตามลำดับ สำหรับข้อมูลพื้นฐานพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ถูกทำร้ายในขณะตั้งครรภ์มีประวัติเพิ่งหย่าร้างหรือแยกกันอยู่กับสามี (41.7%) อาศัยอยู่กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติ (16.7%) เป็นการแต่งงานครั้งที่สอง (29.2%) ไม่ได้ประกอบอาชีพ (37.5%) ไม่มีการวางแผนการตั้งครรภ์ (54.2%) เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ (29.2%) มีประวัติของการถูกทำร้ายในวัยเด็กทางกาย (25%) และทางเพศ (8.3%) มีพฤติกรรมการดื่มสุรา (54.2%) และใช้ยาเสพติด (12.5%) ส่วนใหญ่ได้รับการทำร้ายจากสามีและญาติผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ92.5 และ 7.5 ตามลำดับ การทำร้ายมักเป็นการตบตีหรือผลักโดยไม่ทำให้เกิดบาดแผล ตำแหน่งของร่างกายที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือบริเวณใบหน้า แต่ในขณะตั้งครรภ์พบว่ามีการทำร้ายที่บริเวณหน้าท้องบ่อยกว่าในขณะไม่ได้ตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ที่ถูก ทำร้ายมีการปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์ที่ไม่ดี ได้รับการสนับสนุนทางสังคมน้อย มีความเครียดสูงและความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองต่ำกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป

ผลการวิเคราะห์ถดถอยแบบเชิงชั้นพบว่า ระยะเวลาสมรถ ระดับการศึกษา จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์และความรุนแรงทางกายเป็นตัวทำนายการปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 15 (p<.05) ความรุนแรงทั้งทางกาย ทางเพศและทางจิตในระยะตั้งครรภ์เป็นตัวทำนายความเครียดได้ร้อยละ 52 (p<.05) ส่วนระดับการศึกษา ความรุนแรงทางกายและทางจิตใจเป็นตัวทำนายการสนับสนุนทางสังคมได้ร้อยละ 39 (p < .05) ระยะเวลาสมรส ระดับการศึกษาความรุนแรงทางกายและทางจิตใจเป็นตัวทำนายความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองได้ร้อยละ 41 (p < .05) จากผลการวิจัยครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่าควรจัดให้มีการคัดกรองการทำร้ายแก่หญิงตั้งครรภ์ในหน่วยฝากครรภ์ของสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดความรุนแรงจากการถูกทำร้ายและวางแผนการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมและเพื่อสุขภาพที่ดีของมารดาและทารกในครรภ์

คำสำคัญ : ความชุก ความรุนแรงจากการถูกทำร้ายในคู่สมรถ ปัจจัยเสี่ยง การตั้งครรภ์ สุขภาพสตรี ผลทางจิตสังคม

Downloads

Published

2012-08-27

How to Cite

1.
ธนาในวรรณ น. ความชุกของการถูกทำร้ายในหญิงตั้งครรภ์ ปัจจัยเสี่ยงการปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์และผลทางจิตสังคม. J Thai Nurse midwife Counc [Internet]. 2012 Aug. 27 [cited 2024 Apr. 25];21(2):30. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/view/2382