ประสบการณ์และการจัดการกับอาการอ่อนล้าในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ไดรับเคมีบำบัด
Abstract
วัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อศึกษาประสบการณ์และวิธีจัดการกับอาการอ่อนล้า ความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ของความอ่อนล้า อารมณ์ซึมเศร้าและความวิตกกังวลในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัดโดยใช้แบบจำลองการจัดการกับอาการของดอด์และคณะ (Dodd et al., 2001) เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มารับเคมีบำบัดที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศิริราชและสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จำนวน 100 ราย โดยเลือกผู้ป่วยตามเกณฑ์ที่กำหนด เก็บข้อมูลโดยให้ ผู้ป่วยตอบแบบสอบถามจำนวน 5 ฉบับ คือ 1)ข้อมูลส่วนบุคคล 2)ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย 3)แบบประเมินอาการอ่อนล้า (FSI) 4) แบบประเมินอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล (HADS) และ 5) สัมภาษณ์วิธีการกับอาการอ่อนล้า
ผลการวิจัยพบว่า ประสบการณ์อาการอ่อนล้าเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนครั้งของการได้รับยาโดยมีความรุนแรงสูงสุด ในช่วง 24-72 ชั่วโมงภายหลังได้รับยาและมีคะแนนเฉลี่ยอาการอ่อนล้าสูงที่สุดภายหลังได้รับยา 1 สัปดาห์ (Mean = 52.74 , SD.=25.10) โดยผู้ป่วยที่ได้รับยาสูตร Doxorubicin, Cyclophosphamide (AC) มีอาการอ่อนล้าสูงที่สุด วิธีจัดการกับอาการอ่อนล้าที่ผู้ป่วยปฏิบัติ คือ การนอนพักผ่อนเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ การออกำลังกาย และพบว่าผู้ป่วยมีอารมณ์ซึมเศร้าสูง (Mean = 8.07, S.D.= 3.57) มีความวิตกกังวลต่ำ (Mean = 7.00 ,S.D=3.11) ประสบการณ์อาการอ้อนล้า มีความสัมพันธ์ ทางบวกในระดับปานกลางกับอารมณ์ซึมเศร้าและวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=.484 และ .429,p<0.01 ตามลำดับ)
ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย คือ การให้คำแนะนำเพื่อเตรียมความในการเข้ารับเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมควรเริ่มตั้งแต่ระยะพักฟื้นหลังผ่าตัดโดยกระทำควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำการปฏิบัติตนก่อนการจำหน่าย คำแนะนำที่ให้ควรให้สอดคล้องกับสูตรยาและให้ความสนใจผู้ป่วยที่ได้รับยา AC
เนื่องจากมีอาการอ่อนล้ามากที่สุดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญและการจัดการกับอาการอ่อนล้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำแนะนำในการลดอาการอ่อนล้าควรคำนึงถึงความสมดุลของการออกกำลังกายและการพักผ่อนและปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
คำสำคัญ : ประสบการณ์ความอ่อนล้า การจัดการกับอาการ มะเร็งเต้านม เคมีบำบัด