ผลของการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกต่อการตอบสนองเชิงพฤติกรรมการรับรู้ของผู้บาดเจ็บที่สมอง
Abstract
การบาดเจ็บที่สมองระดับปานกลาง และรุนแรงทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการตอบสนองเชิงพฤติกรรมการรับรู้ การกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกตั้งแต่ระยะแรกหลังการบาดเจ็บเป็นวิธีการหนึ่งที่เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้บาดเจ็บที่สมองมีการตอบสนองเชิงพฤติกรรมการรับรู้ดีขึ้น การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกต่อการตอบสนองเชิงพฤติกรรมการับรู้ของผู้บาดเจ็บที่สมอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บาดเจ็บที่สมองระดับปานกลางและรุนแรง เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จัดให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 15 ราย แรกเป็นกลุ่มควบคุม และกลุ่มตัวอย่างจำนวน 15 รายหลังเป็นกลุ่มทดลอง โดยจัดให้ทั้งสองกลุ่มมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันในด้านคะแนนระดับการตอบสนองเชิงพฤติกรรมการรับรู้ตามแบบประเมินแรนโช ลอส อะมิกอส อายุจำนวนวันหลังการได้รับบาดเจ็บ การได้รับการผ่าตัดและการได้รับยาที่มีผลต่อระบบประสาท กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติส่วนกลุ่มทดลองได้รับการดูแลด้วยวิธีการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนกิจกรรมกระตุ้นประสาทรับความรู้สึก ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม 2) คู่มือเตรียมญาติในการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกของผู้บาดเจ็บที่สมองที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม 3)อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของกลุ่มทดลอง 4)แบบรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปและ 5) แบบบันทึกระดับการตอบสนองเชิงพฤติกรรมการรับรู้ แรนโช ลอส อะมิกอส เครื่องมือทั้งหมดได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพในเรื่องความตรงและความเที่ยงจนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ก่อนนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาการทดสอบพิชเชอร์ วิลคอกชัน และแมนน์-วิทนีย์ ยู
ผลการวิจัย พบว่า ระดับการตอบสนองเชิงพฤติกรรมการรับรู้ของกลุ่มทดลองภายหลังได้รับการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกแตกต่างจากกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามปกติอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p >.05) อย่างไรก็ตามการตอบสนองเชิงพฤติกรรมการรับรู้ของกลุ่มทดลองภายหลังการศึกษามีแนวโน้มดีกว่ากลุ่มควบคุม ทั้งยังไม่พบผลเสียใดๆ จากการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึก
คำสำคัญ : การกระตุ้นประสารทรับความรู้สึก การตอบสนองเชิงพฤติกรรมการรับรู้ การบาดเจ็บที่สมอง