การพัฒนาเครื่องมือประเมินผู้ใช้บริการที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาเครื่องมือประเมินผู้ใช้บริการในชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองภายใต้ทฤษฎีการพยายามของคิง และเพื่อประเมินคุณภาพของเครื่องมือดังกล่าวกับผู้ใช้บริการในชุมชนจำนวน 14 ราย การพัฒนาเครื่องมือนี้มีลักษณะเป็นแบบสอบถามปลายเปิดเป็นหลัก มีโครงสร้าง 2 ส่วน คือ 1) ข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้บริการจำนวน 13 ข้อ 2)ข้อมูลลักษณะและความสัมพันธ์ของผู้ใช้บริการและครอบครัวกับชุมชนที่อาศัย จำนวน 10 ข้อ ประกอบด้วย ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโรคและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง การสูบบุหรี่ การออกกำลังกายในชุมชน การไม่สูบบุหรี่ในชุมชน การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้บริการ กับครอบครัวและชุมชนเกี่ยวกับการเลือกอาหารและการจัดการความเครียด ข้อสังเกตที่ได้จากการพัฒนาเครื่องมือคือ 1)โครงสร้างและองค์ประกอบของเครื่องมือได้จากความรู้วิทยาการระบาดโยงใยกับสาเหตุปัญหาเพื่อให้มองเห็นปัจจัยเสี่ยงของโรค ส่วนทฤษฎีการพยาบาลของคิงเป็นการนำแนวคิดย่อยในระบบต่างๆ มากำหนดข้อคำถามซึ่งจะช่วยในการประเมินทั้งมิติทางการพยาบาลและมิติของการเจ็บป่วยได้อย่างครอบคลุม 2) แบบประเมินในแต่ละส่วนที่เป็นคำถามปลายเปิดต้องใช้วิธีการเชิงคุณภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อขยายความเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงของผู้ใช้บริการตามทฤษฎีการพยาบาลของคิงได้ชัดเจน 3) การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือใช้การตรวจสอบทั้งความตรงเชิงเนื้อหา ความน่าเชื่อถือ และการตรวจสอบสามเส้า ซึ่งข้อมูลที่ได้มีทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ 4) การประเมินในแต่ละข้อคำถาม จะติความแนวคิดย่อยของทฤษฎีได้มากกว่า 1 แนวคิดและมีความเชื่อมโยงระหว่างระบบบุคคล ระบบระหว่างบุคคลและระบบสังคม การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวางแผนการพยาบาลจึงต้องตีความทั้ง 3 ระบบควบคู่กันไป 5) การสร้างเครื่องมือโดยใช้ทฤษฎีเป็นฐานต้องคัดเลือกแนวคิดของทฤษฎีที่มีความเฉพาะเจาะจงกับโรคที่ศึกษาเท่านั้น เพื่อลดข้อมูลที่ไม่จำเป็นและเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพยาบาลและผู้ใช้บริการเพื่อการตั้งเป้าหมายร่วมกันต่อไป
คำสำคัญ : โรคหลอดเลือดสมอง การพัฒนาเครื่องมือ ทฤษฎีการพยาบาลของคิง