ระบบการดูแลผู้บาดเจ็บที่มีภาวะฉุกเฉินในระยะก่อนถึงโรงพยาบาล : การวิเคราะห์วรรณกรรม
Abstract
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้บาดเจ็บในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน บทบาทของพยาบาลและบุคคลสุขภาพอื่นๆ ในการดูแลผู้ป่วยที่ภาวะฉุกเฉินในระยะก่อนถึงโรงพยาบาลสมรรถนะผลลัพธ์การใช้สมรรถนะของพยาบาล และประเด็นด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของพยาบาลและบุคลากรสุขภาพสาขาต่างๆ ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน วรรณกรรมที่ใช้ประกอบด้วย งานวิจัย บทความ ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และตำราที่เกี่ยวข้องที่ตีพิมพ์ระหว่าง ค.ศ. 1994-2007 โดยวิเคราะห์ 5 ขั้นตอน คือ 1) การระบุปัญหา 2)การสืบค้นวรรณกรรม 3) การประเมินข้อมูล 4)การวิเคราะห์ข้อมูล และ 5) การนำเสนอ โดยสังเคราะห์เนื้อหาตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา
ผลการศึกษาพบว่า ระบบการดูแลผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินในระยะก่อนถึงโรงพยาบาลมีที่มาจากการเกิดภัยพิบัติ เริ่มต้นจากการกู้ภัย บุคลากรหลักทางสุขภาพได้แก่ แพทย์ พยาบาลและเวชกรฉุกเฉินขั้นสูง การเข้าถึงระบบใช้การแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ซึ่งแต่ละประเทศใช้หมายโทรศัพท์ที่แตกต่างกัน ตัวชี้วัดสำคัญคือ ระยะเวลาในการเข้าถึงตัวผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุหลังจากได้รับแจ้งเหตุการณ์เพิ่มประสิทธิภาพในระบบทำได้โดยลดระยะเวลาในการเข้าถึงตัวผู้ป่วยและกำหนดแนวทางการดูแล ณ จุดเกิดเหตุ สมรรถนะที่สำคัญของบุคลากร คือ สมรรถนะทางคลินิก การสื่อสาร และประสานงานพยาบาลมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติงานที่ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการรวมทั้งเป็นผู้นำทีมกู้ชีพระดับสูง
บทเรียนจากการศึกษาพบว่า ควรมีศูนย์ควบคุมระบบร่วมกันระหว่างการกู้ชีพและการกู้ภัยกำหนดแนวทางการรับแจ้งข้อมูล และจัดระบบการปฏิบัติงานร่วมกัน กำหนดบทบาทที่ชัดเจนของบุคลากรในทีมกู้ชีพ รวมทั้งควรมีกฎหมายรองรับการปฏิบัติงานบุคลากรในระบบ พยาบาลควรพัฒนาสมรรถนะทางคลินิก และมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์พร้อมทั้งติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
คำสำคัญ : การดูแลในระยะก่อนถึงโรงพยาบาล ผู้บาดเจ็บ ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินการวิเคราะห์วรรณกรรม