อัตราการไม่มาตรวจตามนัดหลังคลอดของมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
Abstract
การวิจัยเชิงระบาดวิทยาแบบภาคตัดขวางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราการไม่มาตรวจตามนัดหลังคลอดของมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครทุกรายในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 ถึง 31 ตุลาคม พ.ศ.2547 ทั้งที่ไม่อาการและมีอาการแสดงของโรคเอดส์ จำนวน 468 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบบันทึกปัจจัยเสี่ยงและแบบบันทึกการให้การปรึกษาของมารดาหลังคลอดที่ติดเชื้อเอชไอวี วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงมาตรฐาน ไคสแควร์ ความหนักแน่นของความสัมพันธ์ ช่วงแห่งความเชี่อมั่น (OR,95% CI) และการวิเคราะห์ถดถอยลอจิสติก
ผลการวิจัยพบว่า อัตราการไม่มาตรวจตามนัดหลังคลอดของมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ถึง 2547 คิดเป็นร้อยละ 32.8,40.2,46.5, และ 37.0 ตามลำดับ อัตราเฉลี่ยตลอด 4 ปี คิดเป็นร้อยละ 38.7 และปัจจัยที่สัมพันธ์กับการไม่มาตรวจตามนัดหลังคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ สถานภาพสมรส (OR =3.50,95% CI= 1.94-6.33) ความเพียงพอของรายได้ (OR=2.13, 95% CI= 1.45-3.14) การมาฝากครรภ์ (OR= 7.32, 95% CI = 4.82-11.12) การเปิดเผยการติดเชื้อเอชไอวี (OR= 3.26,95% CI=2.21-4.81) และสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรส (OR=2.21,95% CI=1.45 3.10) การวิเคราะห์ถดถอยลอจิสติกพบว่า ปัจจัยที่ร่วมทำนายการไม่มาตรวจตามนัดหลังคลอดของมารดาที่ ติดเชื้อเอชไอวี ไดแก่ การไม่มาฝากครรภ์ (OR =5.15, 95% CI=3.29-8.05) และการไม่เปิดเผย การติดเชื้อเอชไอวี (OR=2.15, 95% CI=1.38-3.36) โดยอธิบายความผันแปรของการไม่มาตรวจตามนัดหลังคลอดได้ร้อยละ 28.1
ข้อเสนอแนะในการดูแลมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีมีประเด็นสำคัญที่พยาบาลควรคำนึงถึง คือ การเปิดเผยการติดเชื้อเอชไอวี พยาบาลจะต้องตระหนักถึงผลกระทบทีอาจเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยรวมถึงร่วมกันประเมิน ค้นหาปัญหา อุปสรรค และผลระทบที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้มารดาได้รับการดูแลสุขภาพที่ต่อเนื่องต่อไป
คำสำคัญ : การไม่มาตรวจตามนัดหลังคลอด มารดาติดเชื้อเอชไอเวี