การพัฒนาเครื่องมือวัดความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษาพยาบาลไทยระดับปริญญาตรี
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและทดสอบคุณลักษณะทางจิตวิทยาของเครื่องมือวัดความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษาพยาบาลไทยระดับปริญญาตรี โดยเริ่มสร้างเครื่องมือจากกรอบแนวคิดที่ได้มาจากการทบทวน สังเคราะห์ และวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อคำถาม 50 ข้อ ซึ่งเป็นแบบวัดมาตราส่วนประกอบค่า 5 ระดับ เริ่มตั้งแต่เป็นความจริงมากที่สุด จนถึงไม่เป็นความจริงเลย เมื่อนำไปตรวจสอบคุณสมบัติและคุณภาพของเครื่องมือพบว่า ผลการตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้างและเนื้อหารวมทั้งภาษาที่ใช้จากผู้ทรงคุณวุฒิได้ค่าดัชนีความตรงเท่ากับ .97 ผลการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือกับนักศึกษาจำนวน 30 คน ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงแอลฟ่า เท่ากับ .92 และค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงแบบวัดซ้ำ เท่ากับ .90 ผลการวิเคราะห์หาความเป็นมิติเดียวกันของข้อคำถามได้ข้อคำถามเหลือ 48 ข้อที่ไม่ซ้ำซึ่งกันและกันผลการตรวจสอบหาความตรงเชิงโครงสร้างโดยวิเคราะห์องค์ประกอบกับนักศึกษาจำนวน 333 คน พบว่า จำนวนองค์ประกอบที่เหมาะสมมี 5 องค์ประกกอบ (31 ข้อคำถาม) อธิบายความแปรปรวนได้ ร้อยละ 44.89 องค์ประกอบทั้งหมดประกอบด้วย 1) ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง มี 13 ข้อ 2) คุณลักษณะของผู้ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองมี 7 ข้อ 3) ความสามารถในการบริหารจัดการด้วยตนเองมี 5 ข้อ 4) ความสามารถในการสืบค้นด้วยตนเองมี 3 ข้อ และ 5) ความสามารถในการประเมินด้วยตนเอง มี 3 ข้อ เมื่อตรวจสอบค่าความสอดคล้องภายในของแบบวัดความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตนเองทั้งชุด (31 ข้อคำถาม) ได้ค่าความเที่ยงสัมประสิทธิแอลฟ่า เท่ากับ .93 และผลการตรวจสอบค่าความตรงตามสภาพโดยการนำเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นนี้เปรียบเทียบกับเครื่องมือวัดความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตนเองที่พัฒนาโดย ฟิชเชอร์และคณะ พบว่า คะแนนความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษาพยาบาลของแบบวัดทั้ง 2 แบบมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=.62, p=0.01) เครื่องมือวัดความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตนเองที่พัฒนาขึ้นนี้มีคุณสมบัติ และคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ทีดี สามารถที่นำไปใช้ในการวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้
คำสำคัญ : การพัฒนาเครื่องมือ การวัดความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตนเอง นักศึกษาพยาบาลไทยระดับปริญญาตรี