ปัจจัยเสี่ยงและผลลัพธ์ของการเกิดภาวะสูดสำลักขี้เทาของทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงและผลลัพธ์ของการเกิดภาวะสูดสำลักขี้เทาของทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นการศึกษาย้อนหลังแบบ Case Control ระหว่างกลุ่มทารกแรกเกิดที่มีภาวะสูดสำลักขี้เทาจำนวน 134 ราย และทารกแรกเกิดที่ไม่มีอาการสูดสำลักขี้เทาจำนวน 243 ราย รวบรวมข้อมูลแฟ้มประวัติ สุขภาพมารดาและทารกแรกเกิด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลแบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดและแบบบันทึกข้อมูลทารกแรกเกิด วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ODDs Ratio (OR)
ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะสูดสำลักขี้เทาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ อายุครรภ์มากกว่า 42 สัปดาห์ (OR= 4.68, p=0.003)ทารกในครรภ์มีภาวะคับขัน (OR=2.32, p=0.004) มารดาติดเชื้อเอชไอวี (OR = 5.07, p=0.02) รกลอกตัวก่อนกำหนด (p=0.023) นอกจากนี้ยังพบว่าทารกแรกเกิดที่สูดสำลักขี้เทามีภาวะแทรกซ้อนได้แก่ ปอดบวม ถุงลมรั่วและความลัดเลือดในปอดสูงการรักษาทารกแรกเกิดสำลักสูดขี้เทาด้วยการใส่ท่อหลอดลมคอเพื่อดูดเสมหะทันทีและการให้ออกซิเจนสามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้
การศึกษามีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลควรคัดกรองปัจจัยเสี่ยงของมารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ในทุกระยะได้ทันทีและเฝ้าระวังต่อเนื่อง มีแนวปฏิบัติการพยาบาลที่เป็นมาตรเพื่อเพิ่มคุณภาพการดูแลมารดาและทารกแรกเกิดพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบการดูแลต่อเนื่องที่เชื่อมโยงจากโรงพยาบาลไปยังเครื่องข่ายบริการสุขภาพในชุมชนเพื่อการส่งต่อที่รวดเร็วและวินิจฉัยครรภ์เสี่ยงให้ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม
คำสำคัญ : ปัจจัยเสี่ยง ภาวะสูดสำลักขี้เทา ทารกแรกเกิด