การพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน
Abstract
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน ประชาชนในชุมชนบ้านศาลาบางปู อาจารย์ และนักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วยแนวคำถามกึ่งโครงสร้างเกี่ยวกับความต้องการทีมสุขภาพเพื่อจัดทำระบบแบบสอบถามทุนทางสุขภาพของชุมชน และแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ รวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจข้อมูล GPS ภาคสนาม การสัมภาษณ์ และการสนทนา กลุ่มวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา พบว่าระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพชุมชนที่กลุ่มเป้าหมายต้องการเป็นข้อมูลคุณลักษณะที่สัมพันธ์กับข้อมูลเชิงพื้นที่ ประกอบ 3 ส่วน คือ 1)ข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ ชื่อ สุกล อายุ ศาสนา ระดับการศึกษา อาชีพ ภาวะสุขภาพ ระดับความสุข และวิถีชีวิตทั้งด้านความรู้และพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย รวมทั้งวิธีการดูแลสุขภาพโดใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น 2)ข้อมูลด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว และ 3) ข้อมูลทุนทางสุขภาพชุมชน ได้แก่ ที่ตั้งของแหล่งประโยชน์ทางสุขภาพ เช่น แพทย์พื้นบ้าน เครื่องข่ายกลุ่มบุคคลและองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน ทั้งนี้พบว่าผู้ทดลองใช้ระบบทุกคนเห็นว่าระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่พัฒนาขึ้น มีความถูกต้องด้านการเข้าถึงกิจกรรมของผู้ใช้งานมีข้อดีด้านความเหมาะสมของการจัดรูปแบบ สี ลักษณะภายนอก สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานมีประโยชน์ และคู่มือที่สร้างขึ้นง่ายต่อการนำไปใช้ อย่างไรก็ตาม พบว่าควรปรับปรุงในเรื่องการติดตั้งระบบการจัดการข้อมูลพื้นฐานระบบ การสำรอง เรียกคืน และความปลอดภัยของข้อมูล
ผลการศึกษาครั้งนี้ได้ข้อค้นพบว่า การพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง ต้องเริ่มจากความต้องการของผู้ใช้งานจริง การใช้งานระบบหลังการติดตั้งต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อการประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขระบบให้มีปะสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นไป
คำสำคัญ : การพัฒนาระบบ สารสนเทศภูมิศาสตร์ การสร้างเสริมสุขภาพชุมชน