การพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลในการลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมก่อนการผ่าตัด
Abstract
การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมก่อนการผ่าตัดนี้ใช้รูปแบบการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ของซูคัพเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาซึ่งมี 4 ระยะ คือ 1) การค้นหาปัญหา 2) การค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ 3) การพัฒนาแนวปฏิบัติและนำไปทดลองใช้ และ 4) การนำแนวปฏิบัติที่ปรับปรุงแล้วไปใช้จริงในหน่วยงาน การศึกษาครั้งนี้ได้ศึกษาถึงระยะที่ 3 จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านการประเมินคุณภาพมีจำนวนทังหมด 15 เรื่อง ประกอบด้วย วิเคราะห์อภิมาน 1 เรื่อง การวิจัยเชิงทดลองโดยมีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 7 เรื่อง การวิจัยเชิงทดลองโดยไม่มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 2 เรื่อง การศึกษาติดตามไปข้างหน้า 1 เรื่อง แนวปฏิบัติทางคลินิก 1 เรื่อง และงานวิจัยเชิงสำรวจ 3 เรื่อง ผลการสังเคราะห์ได้สร้างแนวปฏิบัติการพยาบาลขึ้นประกอบด้วย การประเมินสาเหตุและระดับความวิตกกังวลการให้ความรู้เรื่องโรค การปฏิบัติตัวก่อน-หลังการผ่าตัด การส่งเสริมวิธีคิดเชิงบวก และวิธีการผ่อนคลายความวิตกกังวล แนวปฏิบัติที่สร้างขึ้นนี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ผ่าน ได้แก่ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดมะเร็งเต้านม 1 ท่าน และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 2 ท่าน
การนำแนวปฏิบัติการพยาบาลนี้ไปใช้ ควรมีการศึกษานำร่อง (pilot study) เพื่อประเมินกระบวนการและผลลัพธ์ร่วมกับการวิจัยเชิงผลลัพธ์ (outcome research) เพื่อเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพของแนวปฏิบัตินี้ และควรบูรณาการแนวปฏิบัติการพยาบาลนี้เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ( Continuous Quality Improvement : CQI) และมีการปรับปรุงแนวปฏิบัติการพยาบาลนี้ตามงานวิจัยใหม่ที่เพิ่มขึ้น
คำสำคัญ : แนวปฏิบัติทางการพยาบาล ผู้ป่วยมะเร็ง.เต้านมก่อนการผ่าตัด การลดความวิตกกังวล