การผลิตกำลังคนสาขาพยาบาลศาสตร์และผดุงครรภ์ของสถาบันการศึกษาพยาบาลในประเทศไทย
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพร้อมด้านจำนวน คุณวุฒิ และความต้องการพัฒนาบุคลากรของสถาบันการศึกษาพยาบาล ศึกษาสถานการณ์และศักยภาพในการผลิตบุคลากรพยาบาลในระดับต่างๆ ของสถาบันการศึกษาพยาบาลประเภทจำกัดรับนักศึกษาจำนวน 60 แห่ง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสำรวจที่พัฒนาโดยผู้วิจัย และผ่านการตรวจสอบความเป็นปรนัยแล้ววิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละและอัตราส่วน
ผลการวิจัยพบว่า ความพร้อมและความต้องการพัฒนาบุคลากรในสถาบันการศึกษา ปีการศึกษา 2549 มีอาจารย์ในสถาบันการศึกษาพยาบาล 3,376 คน โดยเป็นอาจารย์วุฒิพยาบาล 3,100 คน เมื่อเทียบอัตราส่วนอาจารย์พยาบาลต่อนักศึกษาโดยเฉลี่ยเท่ากับ 1: 9.5 และอัตราส่วนวุฒิปริญญาเอก : ปริญญาโท:ปริญญาตรี เท่ากับ 1.60 : 7.40 :1.00 ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์อุดมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็น 4.0 : 6.0 สำหรับระดับ ปริญญาเอก : ปริญญาโท ซึ่งในปีการศึกษา 2549-2553 คาดว่าจะมีอาจารย์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก 321 คนระดับปริญญาโท 176 คน ปริญญาโท-เอก 54 คน ซึ่งคาดว่าอัตราส่วนวุฒิปริญญาเอก : ปริญญาโท : ปริญญาตรีจะเท่ากับ 2.46: 6.90 : 0.34
สถานการณ์และศักยภาพในการผลิตบุคลากรพยาบาลปีการศึกษา 2549 สถาบันการศึกษาพยาบาล มีนักศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีจำนวน 100 คน ปริญญาตรีจำนวน 26,095 คน ปริญญาโทจำนวน 3,246 คน และปริญญาเอกจำนวน 284 คน ระหว่างปีการศึกษา 2549-2552 คาดว่าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวน 31,171 คน โดยแยกเป็นประกาศนียบัตรระดับต้นเฉลี่ยปีละ 50 คน ปริญญาตรีเฉลี่ยปีละ 7,519 คน ปริญญาโทเฉลี่ยปีละ 1,487 คนและปริญญาเอก เฉลี่ยปีละ 74 คน
ผลของการศึกษาครั้งนี้ สามารถใช้ในการกำหนดนโยบายและวางแผนกำลังคนทั้งฝ่ายการศึกษาและฝ่ายบริการโดยเพิ่มศักยภาพในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านพยาบาล ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศต่อไป
คำสำคัญ : การวางแผนกำลังคนสาขาพยาบาลศาสตร์และผดุงครรภ์ การผลิตบุคลากรทางการพยาบาล