การใช้แนวทางการวินิจฉัยระดับความรุนแรงของอาการจับหืดกำเริบเฉียบพลันเพื่อลดระยะเวลาในการประเมินผู้ป่วยหอบหืดที่มารับการรักษาในแผนฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชน
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการใช้แนวทางการวินิจฉัยระดับความรุนแรงของอาการจับหืดกำเริบเฉียบพลันในผู้ป่วยหอบหืดโดยใช้วิธีการวิจัยแบบกึ่งทดลอง จากกลุ่มตัวอย่าง 50 ราย เป็นเด็กโตอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ที่มีอาการจับหืดเฉียบพลันที่มาใช้บริการที่แผนฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในภาคใต้ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2550 แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการประเมินตามแนวทางปฏิบัติ (n=25) หรือได้รับการประเมิน ตามปกติ (n=25) ผลลัพธ์ที่วัดประกอบด้วย การประเมินอาการนำสำคัญที่บ่งชี้ระดับความรุนแรงของภาวะจับหืดกำเริบเฉียบพลัน และระยะเวลาที่ใช้ในการประเมินผู้ป่วย
ผลการศึกษา พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้แนวทางการปฏิบัติได้รับการประเมินอาการนำสำคัญที่บ่งชี้ถึงภาวะจับหืดเฉียบพลันมีความถี่มากกว่ากลุ่มที่ได้รับการประเมินตามปกติ จำนวน 1 อาการจาก 4 อาการ คือ อาการเหนื่อยหอบเวลากลางคืน (92.0% กับ 60% ,p< 0.05) ได้รับการประเมินอาการและอาการแสดงที่บ่งชี้ระดับความรุนแรงของภาวะจับหืดกำเริบเฉียบพลันมากกว่า จำนวน 6 ด้าน จาก 9 ด้าน (p <0.001) คือ การรู้สติ (100% กับ 16%) เดินเหนื่อย (100% กับ 8%) พูดเหนื่อย (100% กับ 8%) ค่าความอิ่มตัวออกซิเจนจากชีพจร (100% กับ 24%) การใช้กล้ามเนื้อเสริมหายใจ (100% กับ 4%) และภาวะ central cyanosis (100% กับ 4%) ทั้งนี้การประเมินตามแนวทางปฏิบัติใช้เวลาน้อยกว่าการประเมินตามปกติประมาณ 2 นาที (t= -3.43,p <0.01) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าแนวปฏิบัติสามารถนำไปใช้ได้จริงในคลินิกและประสิทธิผลดีกว่าการประเมินตามปกติ
คำสำคัญ : หอบหืด อาการเหนื่อยหอบ การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน เครื่องมือประเมินผู้ป่วย แนวทางปฏิบัติ