ความเครียดจากการทำงานและผลการปฏิบัติงานในพนักงานขับรถบรรทุก เหมืองขุดถ่านหิน
Abstract
การทำงานในสภาพที่เสี่ยงอันตรายของพนักงานขับรถบรรทุก เหมืองขุดถ่านหินอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดความเครียดจากการทำงาน ซึ่งอาจส่งผลต่อผลการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถบรรทุก ถ่านหิน การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเครียดจากการทำงาน ผลการปฏิบัติงาน และความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดจากการทำงานและผลการปฏิบัติงาน ในพนักงานขับรถบรรทุก เหมืองขุดถ่านหิน จำนวน 84 คน รวบรวมข้อมูลโดยใช้เครื่องมือประเมินความเครียดจากการทำงานของวินเดอร์ซาล-เบซิลและซีลัคและแบบประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ไคสแควร์ และการทดสอบฟิชเชอร์สเอ๊กแซ็ค (Fisher’exact test)
ผลการศึกษาพบว่า พนักงานร้อยละ 13.09 เป็นกลุ่มที่มีความเครียดจากการทำงานสูงขณะที่ร้อยละ 78.60 เป็นกลุ่มทำงานเชิงรุก สำหรับผลการปฏิบัติงานพบว่า พนักงานมีผลการปฏิบัติงานโดยรวมอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 53.60) ซึ่งมีคะแนนพฤติกรรมด้านบวกอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะพฤติกรรมการสำนักในหน้าที่ (ร้อยละ 61.90) ส่วนพฤติกรรมด้านลบแม้จะมีคะแนนอยู่ในระดับต่ำ แต่เป็นพฤติกรรมที่ควรให้ความสนใจ ในด้านการมีเจตนาทำให้งานเกิดความล่าช้าบ่อยครั้ง (ร้อยละ 6.00) มีการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะทำงานบ่อยครั้ง และมีการออกหน่วยงานในเวลางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนความเครียดจากการทำงานไม่มีความสัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงาน
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าพยาบาลอาชีวอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงานกลุ่มที่มีความเครียดจากการทำงานสูงและกลุ่มที่มีพฤติกรรมด้านลบที่อาจกระทบต่อผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนผลผลิตขององค์กร
คำสำคัญ : ความเครียดจากการทำงาน ผลการปฏิบัติงาน พนักงานขับรถบรรทุก เหมืองขุดถ่านหิน