การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อฟื้นฟูการกลืนของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอหลังผ่าตัด
Abstract
ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอหลังผ่าตัดมักประสบภาวะกลืนลำบากและการสำลัก ทำให้พฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติไป ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วย วัตถุประสงค์การศึกษาครั้งนี้ เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อฟื้นฟูการกลืนของผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยใช้รูปแบบการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการพยาบาลของซูคัพ ในปี ค.ศ.2000 การศึกษาครั้งนี้ได้ศึกษาเพียงระยะที่ 1-3 ดังนี้ ระยะที่ 1 เป็นการวิเคราะห์ปัญหากลืนลำบากและการสำลักของผู้ป่วยมะเร็งศรีษะและคอหลังผ่าตัด ระยะที่ 2 เป็นการสืบค้นและวิเคราะห์หลักฐานเชิงประจักษ์จากฐานข้อมูลอิเลคทรอนิกส์และสืบค้นด้วยมือ ระหว่างปี ค.ศ.1990-2008 จำนวน 35 เรื่อง โดยนำมาใช้ทั้งหมด 6 เรื่อง เป็นงานวิจัยกึ่งทดลองที่มีการสุ่ม 4 เรื่อง งานวิจัยแบบศึกษาไปข้างหน้า 1 เรื่อง และงานวิจัยศึกษาไปข้างหน้าระยะยาว 1 เรื่อง นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินคุณภาพงานวิจัย ก่อนนำมาพัฒนาเป็นแนวปฏิบัติการพยาบาล สรุปประเด็นจากงานวิจัยดังกล่าวได้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย การประเมินความพร้อมในการกลืน การประเมินการกลืนและการสำลัก การฝึกกลืนและการบริหารช่องปากและคอ และการพยาบาลเพื่อการกลืนอย่างปลอดภัย ระยะที่ 3 นำแนวปฏิบัติการพยาบาลที่สร้างขึ้นไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 ท่าน ตรวจสอบความเที่ยงตรงด้านเนื้อหา และได้ปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติการพยาบาลตามคำแนะนำ โดยระยะที่ 4 การวางแผนเพื่อนำแนวปฏิบัติการพยาบาลไปทดลองใช้ปฏิบัติจริงในหอผู้ป่วยหู คอ จมูก อยู่ในระหว่างดำเนินการ
ข้อเสนอแนะ : ควรมีการแนะปฏิบัติการพยาบาลนี้ไปใช้กับผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอหลังผ่าตัด โดยเริ่มจากการศึกษาเบื้องต้น พร้อมทั้งประเมินกระบวนการและผลลัพธ์ที่พึงประสงค์รวมทั้งควรจัดการฝึกอบรมให้กับพยาบาลที่จะใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลนี้เมื่อนำไปใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
คำสำคัญ : แนวปฏิบัติการพยาบาล การฟื้นฟู ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอหลังผ่าตัด