การรับรู้ประโยชน์ สภาพปัญหา และข้อเสนอแนะของพยาบาลเวชปฏิบัติในประเทศไทย
Abstract
การศึกษาเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้ประโยชน์ สภาพปัญหา และข้อเสนอแนะของพยาบาลเวชปฏิบัติในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลเวชปฏิบัติทีได้รับเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) จากสภาการพยาบาล จำนวน 1,928 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสำรวจข้อมูลส่วนบุคคลและคำถามปลายเปิด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยายและการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่า พยาบาลเวชปฏิบัติรับรู้ประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพในการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ จำนวน 47 ครั้ง รับรู้ประโยชน์ต่อตนเองคือการเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน และสามารถคัดกรองผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 24 และ 22 ครั้ง ตามลำดับ ส่วนการรับรู้ประโยชน์ต่อวิชาชีพคือนโยบายการผลิตพยาบาลเวชปฏิบัติเหมาะสม จำนวน 47 ครั้ง
อย่างไรก็ตามพยาบาลเวชปฏิบัติส่วนหนึ่งประสบปัญหาขณะปฏิบัติงานโดยเฉพาะการทำงานเกินบทบาทและขอบเขตกฎหมาย ทั้งทำงานแทนแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนและโดยลำพังที่สถานีอนามัย จำนวน 107 ครั้ง พยาบาลเวชปฏิบัติจึงมีข้อเสนอในการกำหนด ตำแหน่ง บทบาท อัตรากำลัง และค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม รวมทั้งการส่งเสริมการปฏิบัติงานและการพัฒนาศักยภาพในหน่วยงาน/องค์กร และองค์การวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสภาการพยาบาลควรกำหนดบทบาท สมรรถนะ และสวัสดิการค่าตอบแทนของพยาบาลเวชปฏิบัติพร้อมทั้งสร้างความเข้าใจบทบาทของพยาบาลเวชปฏิบัติและพัฒนาพยาบาลเวชปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มคุณภาพระบบบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ
คำสำคัญ : การรับรู้ประโยชน์ สภาพปัญหา พยาบาลเวชปฏิบัติ