ผลของการใช้แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจต่ออุบัติการณ์ปอดอักเสบ และ ระยะเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ
Abstract
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบ 2 กลุ่มวัดผลหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจต่ออุบัติการณ์ปอดอักเสบ และระยะเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจ ในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ในหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตศัลยกรรม โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 40 ราย เป็นกลุ่มทดลอง 20 ราย ได้รับการพยาบาลตามแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจ และกลุ่มควบคุม 20 รายได้รับการพยาบาลตามปกติ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 โดยติดตามผู้ป่วยจนกระทั่งหย่าเครื่องช่วยหายใจได้สำเร็จ และติดตามผู้ป่วยหลังหยุดใช้เครื่องช่วยหายใจ 72 ชั่วโมง การประเมินผลลัพธ์จากอุบัติการณ์ปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจ และระยะเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานค่าสถิติไค-สแควร์ ค่าสถิติฟิชเชอร์ และค่าสถิติที
ผลการวิจัยพบว่า
1.อุบัติการณ์ปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะที่ได้รับการดูแลตามแนวปฏิบัติแตกต่างจากผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลตามวิธีปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.ระยะเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะที่ได้รับการดูแลตามแนวปฏิบัติน้อยกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลตามวิธีปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการวิจัย สนับสนุนแนวปฏิบัติการพยาบาลที่สร้างขึ้น สามารถลดอุบัติการณ์ปอดอักเสบและระยะเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะได้ ดังนั้น บุคลากรพยาบาลสามารถนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยปรับให้เหมาะสมกับบริบทของหน่วยงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลต่อไป
คำสำคัญ : ปอดอักเสบ เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ แนวปฏิบัติการพยาบาล