ระบบการจัดการศึกษาเพื่อการสร้างพยาบาลของชุมชน : กรณีศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract
การศึกษาเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการคัดเลือกที่เหมาะสมในการสร้างพยาบาลของชุมชน เพื่อศึกษาสมรรถนะที่พึงประสงค์ของพยาบาลของชุมชน และศึกษากระบวนการผลิตและปัจจัยสนับสนุนระบบการจัดการศึกษา เพื่อสร้างพยาบาลชุมชน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล พยาบาลผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนและหน่วยปฐมภูมิประชาชน ผู้นำชุมชน ครู/อาจารย์ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ศึกษา รองคณบดีและผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และคณาจารย์ภาควิชาการพยาบาล สาธารณสุข คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 75 คน รวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2549 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ และแนวคำถามสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่า 1) ผู้ที่จะมีส่วนร่วมในการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในโครงการ ได้แก่ ผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โรงเรียน บุคลากรด้านสุขภาพ ผู้นำชุมชน ประชาชน ในพื้นที่ และคณาจารย์จากคณะพยาบาลศาสตร์ โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ บิดามารดาของนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในท้องถิ่นอย่างน้อย 5-10 ปี นักเรียน สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุไม่เกิน 25 ขึ้นไป มีใบรับรองการฝึกงานในสถานบริการสุขภาพในท้องถิ่นมีความประพฤติดี รักวิชาชีพ อดทน มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน รักท้องถิ่น สุขภาพแข็งแรง และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของคณะ โดยผ่านการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ตามกระบวนการรับเข้าโครงการพิเศษของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) พยาบาลของชุมชนควรมีสมรรถนะดังนี้ ทำงานในชุมชนได้โดยประยุกต์หลักวิชาการอย่างเหมาะสมกับชุมชนเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำงานเชิงรุกและทำงานเชิงรับ มีภาวะผู้นำ บริหารจัดการและทำงานเป็นทีมได้ มีมนุษยสัมพันธ์ สามารถใช้คอมพิวเตอร์ และระบบสารสนเทศได้ดี 3) กระบวนการผลิตและปัจจัยที่สนับสนุนในการสร้างสมรรถนะ ได้แก่ การกำหนดคุณสมบัติ ก่อนการเข้ารับการศึกษา การเตรียมนักศึกษา การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรหมวดวิชาเฉพาะ กิจกรรมเสริมหลักสูตร และการมีส่วนร่วมขององค์กรที่เกี่ยวข้อง
คำสำคัญ : ระบบการจัดการศึกษา พยาบาลชุมชน