การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการพิทักษ์สิทธิ์ของสตรีไทย ที่ถูกสามีทำร้าย

Authors

  • สุนีรัตน์ จันทร์ศรี
  • อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์
  • อทิตยา พรชัยเกตุ โอวยอง

Abstract

การสร้างแนวปฏิบัติการพยาบาล ในการพิทักษ์สิทธิ์ของสตรีไทยที่ถูกสามีทำร้ายนี้ พัฒนาจากรูปแบบการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการพยาบาลของซูคัพ ในปีค.ศ. 2000 ประกอบด้วย 4 ระยะ คือ 1) การค้นหาปัญหา 2) การสืบค้นหลักฐานเชิงประจักษ์ 3) การพัฒนาแนวปฏิบัติและนำไปทดลองใช้ และ 4) การนำแนวปฏิบัติที่ปรับปรุงแล้ว ไปใช้จริงในหน่วยงาน การศึกษานี้ได้ศึกษาถึงระยะที่ 3 หลักฐานที่ผ่านการประเมินคุณภาพ ระดับความน่าเชื่อถือและความเป็นไปได้ในการนำหลักฐานไปใช้ มีทั้งหมด 9 เรื่อง ประกอบด้วย การทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ 1 เรื่อง และการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม 8 เรื่อง ผลการสังเคราะห์ได้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อลดการถูกทำร้ายซ้ำ อาการซึมเศร้า และเพิ่มคุณภาพชีวิตในสตรีที่ถูกสามีทำร้าย แนวปฏิบัติการพยาบาลนี้ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน ได้แก่นักสังคมสงเคราะห์ 1 ท่าน พยาบาลวิชาชีพ 1 ท่าน และอาจารย์พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการพยาบาลสตรีที่ถูกสามีทำร้าย 1 ท่าน โปรแกรมเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้สตรี เพิ่มการสนับสนุนทางสังคมและการเข้าถึงแหล่งประโยชน์ในชุมชน ประกอบด้วย 5 ระยะ ได้แก่ 1) การประเมินปัญหา 2) การปฏิบัติการแก้ไขปัญหา 3) การประเมินผลการปฏิบัติการ 4) การปรับปรุงการปฏิบัติการที่ยังไม่บรรลุผล และ 5) การสิ้นสุดโปรแกรมข้อเสนอแนะ : การนำแนวปฏิบัติการพยาบาลนี้ไปใช้ ควรมีการศึกษานำร่องร่วมกับการประเมินผล ทั้งด้านกระบวนการและผลลัพธ์เพื่อปรับให้เหมาะสมกับบริบทของหน่วยงานโดยบูรณาการเข้ากับกิจกรรมพัฒนาคุณภาพของหน่วยงาน ร่วมกับการทำวิจัยเชิงผลลัพธ์

คำสำคัญ : แนวปฏิบัติการพยาบาล โปรแกรมการพิทักษ์สิทธิ์ สตรีไทยที่ถูกสามีทำร้าย

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

Published

2012-09-07

How to Cite

1.
จันทร์ศรี ส, สี่หิรัญวงศ์ อ, พรชัยเกตุ โอวยอง อ. การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการพิทักษ์สิทธิ์ของสตรีไทย ที่ถูกสามีทำร้าย. J Thai Nurse midwife Counc [Internet]. 2012 Sep. 7 [cited 2024 Nov. 22];24(4):19. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/view/2582