ผลของโปรแกรมการจัดการความเหนื่อยล้าร่วมกับโยคะต่อความเหนื่อยล้าในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับสีรักษา
Abstract
การวิจัยกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการความเหนื่อยล้าร่วมกับโยคะให้ผู้ป่วยที่ได้รับรังสีรักษา ณ ศูนย์มะเร็งแห่งหนึ่งในภาคใต้ จำนวน 60 ราย ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด และแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในเรื่องเพศ อายุ โรค การรักษา ปริมาณรังสีที่ ได้รับ และระดับความเหนื่อยล้าก่อนการทดลองโดยวิธีการจับคู่ จัดให้ผู้ป่วย 20 ราย แรกเป็นกลุ่มควบคุม ได้รับการพยาบาลตามปกติ 20 รายต่อมาเป็นกลุ่มทดลอง 1 ได้รับโปรแกรมการจัดการความเหนื่อยล้า และ 20 รายสุดท้ายเป็นกลุ่มทดลอง 2 ได้รับโปรแกรมการจัดการความเหนื่อยล้าร่วมกับโยคะ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และแบบประเมินความเหนื่อยล้าในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษา เครื่องมือในการทดลองประกอบด้วย วีดีทัศน์ เอกสารคู่มือ โปสเตอร์ และแผ่นพับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติไค-สแควร์และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ (Repeated Measures ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลองผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษากลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมการจัดการความเหนื่อยล้าร่วมกับโยคะ มีคะแนนเฉลี่ยความเหนื่อยล้าหลังการทดลองต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการจัดการความเหนื่อยล้าเพียงอย่างเดียว และกลุ่มที่ได้รับพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญ (F = 63.71 , p < .01) ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นประโยชน์ของโปรแกรมการจัดการความเหนื่อยล้าร่วมกับโยคะ จึงควรมีการสนับสนุนให้มีการใช้โปรแกรมการจัดการความเหนื่อยล้าร่วมกับโยคะกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ทั้งนี้ควรให้ญาติเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และควรมีการนำไปทดสอบกับผู้ป่วยมะเร็งที่มีความเหนื่อยล้ากลุ่มอื่นๆ ต่อไปด้วย เช่น กลุ่มที่ได้รับเคมีบำบัด
คำสำคัญ : ผู้ป่วยมะเร็ง, รังสีรักษา ความเหนื่อยล้า ระบบการพยาบาลแบบสนับสนุน โยคะ