การพัฒนารูปแบบการประกันคุณภาพผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุ
Abstract
ความต้องการผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรค เรื้อรัง มีภาวะทุพพลภาพ ภาวะพึ่งพาและต้องการการดูแลระยะยาว ในขณะที่ครอบครัวมีศักยภาพการดูแลลดลง จึงมีการผลิตผู้ช่วยดูแลเพิ่มขึ้น แต่การผลิตบุคลาการกลุ่มนี้ยังไม่การกำหนดมาตรฐาน ยังขาดระบบการติดตาม ทำให้การปฏิบัติกิจกรรมการดูแลบางอย่างอาจเกินขอบเขตหน้าที่ ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการประกันคุณภาพผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุจะเป็นประโยชน์ช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 4กลุ่ม คือ กลุ่มนักวิชาการและองค์กรวิชาชีพ กลุ่มนักการศึกษาและครูผู้สอน กลุ่มผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ใช้บริการ โดยใช้เทคนิคการสนทนากลุ่มในวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ
ผลการศึกษาพบว่า คุณลักษณะของผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 3 คือ ด้านความรู้ ด้านเจตคติและด้านการปฏิบัติ รูปแบบการประกันคุณภาพที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ได้แก่ ผู้สมัครเข้าศึกษา การรับเข้าศึกษา การเรียนการสอนการบริหารการเงินและงบประมาณ ผู้สำเร็จการศึกษา การติดตามผู้สำเร็จการศึกษา และระบบและกลไกลการประกันคุณภาพ ที่ต้องการมีการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและการประเมินคุณภาพภายนอก แต่ละองค์ประกอบยังแจกแจงเป็นดัชนีย่อย 3 ลักษณะ คือ ดัชนีเชิงบรรยาย ดัชนีเชิงลักษณะ และดัชนีเชิงปริมาณ
ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการผลิตและควบคุมการผลิตผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพ กำหนดกฎหมายเกี่ยวกับอาชีพ ขึ้นทะเบียนศูนย์บริการผู้ช่วยดูแล ปรับปรุงหลักสูตรการอบรมให้มีมาตรฐานเดียวกัน จัดทำหลักสูตรต่อเนื่องส่งเสริมการขึ้นทะเบียนผู้ช่วยดูแล แบ่งระดับและกำหนดขอบเขตกิจกรรมการปฏิบัติ และข้อเสนอแนะในเชิงปฏิบัติ เช่น ส่งเสริมให้โรงเรียนสอนผู้ช่วยดูแลนำรูปแบบการประกันคุณภาพไปปรับใช้ สนับสนุนการจัดตั้งชมรม/สมาคม พัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพ
คำสำคัญ : การพัฒนารูปแบบ การประกันคุณภาพ ผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุ