ผลของการเข้าค่ายเบาหวานกลางวันต่อการรับรู้สมรรถนะแห่งตน พฤติกรรมการดูแลตนเองและระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2
Abstract
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเข้าค่ายเบาหวานกลางวันต่อการรับรู้สมรรถนะแห่งตน พฤติกรรมการดูแลตนเองและระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน70 คน ดำเนินการศึกษาที่โรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง แห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุ่มวันเพื่อจัดเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมละ 35 คน การจัดค่ายเบาหวานนี้ประยุกต์ทฤษฏีการรับรู้สมรรถนะแห่งตน มาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม ค่ายเบาหวานมีระยะเวลา 3 วัน ผู้วิจัยเริ่มดำเนินการทดลองภายหลังผู้ป่วยยินยอมเข้าร่วมการศึกษา 1 สัปดาห์ กลุ่มทดลองได้รับการเข้าค่ายเบาหวานที่จัดกิจกรรมโดยผู้วิจัยและทีม ในขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติจากพยาบาล เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบสอบถามถามข้อมูลทั่วไป แบบประเมินการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการปฏิบัติพฤติกรรมการดูแลตนเอง แบบประเมินการปฏิบัติพฤติกรรมการดูแลตนเอง และระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้า วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบความแตกต่างแบบที (t-test) และทดสอบความแปรปรวนร่วม (ANCOVA)
ผลการศึกษาพบว่า ในวันสิ้นสุดการเข้าค่ายวันที่ 3 กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้สมรรถนะแห่งตนมากกว่าก่อนเข้าค่ายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) และภายหลังการเข้าค่าย 1 เดือน กลุ่มทดลองมีการเพิ่มขึ้นของคะแนนเฉลี่ยของความแตกต่างของรับรู้สมรรถนะแห่งตน และพฤติกรรมการดูแลตนเอง มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p< .001) กลุ่มทดลองมีการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้า มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p < .05)
พยาบาลและทีมสุขภาพสามารถนำโปรแกรมค่ายเบาหวานไประยุกต์ในการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตน และพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานเพื่อควบคุมโรคและป้องกันโรคแทรกซ้อน
คำสำคัญ : ค่ายเบาหวานกลางวัน ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การรับรู้สมรรถนะแห่งตนพฤติกรรมการดูแลตนเอง ระดับน้ำตาลในเลือด