ผลของการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนต่อพฤติกรรมการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2
Abstract
พฤติกรรมการดูแลเท้ามีความสำคัญต่อผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลและการตัดเท้าที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาผลของการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนต่อพฤติกรรมการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวานโรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี สุ่มตัวอย่างโดยวิธีจับฉลากรายชื่อจำนวน 40 ราย โดย 20 รายแรกเป็นกลุ่มควบคุม และ 20 รายหลังเป็นกลุ่มทดลอง การรวบรวมข้อมูลระหว่าง เดือน ตุลาคม 2550 ถึง เดือนมิถุนายน 2551 แผนการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนต่อพฤติกรรมการดูแลเท้าโดยการสร้างความมั่นใจในความสามารถของกลุ่มทดลอง เน้นการสร้างประสบการณ์ในความสำเร็จของการดูแลเท้า การให้ข้อมูลความรู้ การถ่ายทอดประสบการณ์ของต้นแบบผู้ป่วยเบาหวานที่มีพฤติกรรมการดูแลเท้า และการประเมินสภาวะ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลเท้า แบบวัดการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการดูแลเท้าที่ผ่านการหาค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือจากกลุ่มตัวอย่างที่คล้ายคลึงกันมีค่าความเชื่อมันเท่ากับ 0.81 และ 0.95 ตามลำดับ เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจประเมินสภาวะเท้า ขนาดของแรงกด 10 กรัม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และสถิติไคสแควร์ ทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติที สถิติความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ ตามวิธีเชฟเฟ่
ผลการวิจัยพบว่า
หลังการทดลองคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลเท้าของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) และคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลเท้าของกลุ่มทดลองในระยะหลัง การทดลอง 1 เดือน และ ระยะติดตาม 6 เดือน สูงกว่าระยะก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.001)
ผลการวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนส่งผลให้พฤติกรรมดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ดีขึ้น สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลต่อไป
คำสำคัญ : พฤติกรรมการดูแลเท้า การส่งเสริมสมรรถนะแห่งตน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2