ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือนกับภาวการณ์ทำหน้าที่ในผู้บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อย
Abstract
การศึกษาเชิงบรรยายภาคตัดขวาง เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือนกับภาวะการทำหน้าที่ในผู้บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อย จำนวน 88 ราย ที่มาตรวจตามนัดครั้งแรกหลังจากจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลตติยภูมิ 3 แห่ง ในเขตภาคกลางเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกประวัติการบาดเจ็บที่ศีรษะ แบบสอบถามกลุ่มอาการภายหลังได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ (The Rivemead Post Concussion Symptoms Questionnaire : RPO) และแบบสอบถามผลกระทบความเจ็บป่วย (The Sickness Impact Profile : SIP) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 64.8 อายุเฉลี่ย 36.77 ปี (SD= 15.53) สาเหตุของการบาดเจ็บที่ศีรษะเกิดจากอุบัติเหตุการจราจรมากที่สุดร้อยละ 70.5 หลังได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่ผู้ป่วยหมดสตินาน 30 นาที หลงลืมเหตุชั่วขณะร้อยละ 82.7 กลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือนพบอาการด้านร่างกายมากที่สุด รองลงมาเป็นอาการด้านพฤติกรรมทางอารมณ์ ส่วนภาวการณ์ทำหน้าที่ของผู้ป่วยกลับพบว่า มีความบกพร่องด้านการทำหน้าที่ด้านจิตสังคมเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นความบกพร่องด้านการทำหน้าที่ด้านร่างกายกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือนโดยรวมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับภาวะการทำหน้าที่โดยรวม การทำหน้าที่ด้านจิตสังคมและการทำหน้าที่ด้านร่างกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( r= .597 ,.697, และ .324, p < .01 ตามลำดับ)
ผลการวิจัยที่ได้ครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อทีมสุขภาพ โดยใช้เป็นข้อมูลเพื่อประเมินกลุ่มอาการภายหลังได้รับการกระทบกระเทือน และพัฒนารูปแบบการพยาบาลในการจัดการกับกลุ่มอาการดังกล่าวในผู้บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อยเมื่อจำหน่ายจากโรงพยาบาล โดยเฉพาะอาการด้านพฤติกรรมทางอารมณ์และการรู้คิด เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูภาวะการทำหน้าที่ในผู้ป่วยเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นในระยะฟื้นตัว
คำสำคัญ : กลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือน ภาวการณ์ทำหน้าที่ บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อย