ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้โอกาสเสี่ยง การรับรู้ความรุนแรงกับการเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในสมองตามการรับรู้ของผู้บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อยและผู้ดูแล
Abstract
การวิจัยเชิงบรรยายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในสมอง และความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้โอกาสรเสี่ยงและการรับรู้ความรุนแรง กับการเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในสมองตามการรับรู้ของผู้บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อยและผู้ดูแลกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่งในภาคใต้น้อยกว่า 48 ชั่วโมงและผู้ดูแลกลุ่มละ 90 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง แบบสอบถามการรับรู้ ความรุนแรงของการบาดเจ็บศีรษะ และแบบสอบถามการเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในสมองตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ การหาความเที่ยงโดยวิธีทดสอบซ้ำ ได้ค่าความคงที่ของแบบสอบถามการรับรู้โอกาสเสี่ยง การรับรู้ความรุนแรง และการเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในสมองของผู้บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อย เท่ากับ 0.80,0.93 และ 1.00 ตามลำดับ และของผู้ดูแลเท่ากับ 0.85, 0.94 และ 1.00 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยายและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน
ผลการศึกษา พบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างผู้บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อยและผู้ดูแลมีการรับรู้การเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในสมองอยู่ในระดับสูง (X = 5.82, SD=1.03 และ X = 6.02, SD=1.30 ตามลำดับ ) 2)การรับรู้โอกาสเสี่ยง กลุ่มตัวอย่างผู้บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อยมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในสมอง (r=.26, p < .05) แต่การรับรู้ความรุนแรงไม่มีความสัมพันธ์กับการเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในสมอง สำหรับการรับรู้โอกาสเสี่ยง และการรับรู้ความรุนแรงของกลุ่มตัวอย่างผู้ดูแลมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในสมอง (r= .18 , p< .05 และ r= .20 , p < .05)
ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการจำหน่ายผู้บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อย
คำสำคัญ : การรับรู้โอกาสเสี่ยง การรับรู้ความรุนแรง การเฝ้าระวังภาวะเลือดออกในสมองบาดเจ็บศีรษะเล็กน้อย ผู้ดูแล