ผลของโปรแกรมการเสริมสร้างศักยภาพผู้ดูแลต่อการรับรู้ในบทบาทของผู้ดูแลและคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลเด็กเชื้อเอชไอวี/เอดส์
Abstract
การวิจัยแบบกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดี่ยววัดก่อนและหลังการทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมเสริมสร้างศักยภาพต่อการรับรู้ในบทบาทของผู้ดูแลและคุณภาพชีวิตของผู้ดูแล ดำเนินการวิจัยโดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างในชุมชนแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 120 ราย ได้แก่ บิดาหรือมารดา 42 ราย ญาติผู้ดูแล 27 ราย อาสาสมัครในชุมชน 20 ราย และผู้ดูแลในสถาบันเลี้ยงเด็ก 31 ราย เข้าร่วมโปรแกรมการเสริมสร้างศักยภาพจำนวน 2 วัน ประกอบด้วย การอบรมเรื่องการดูแลรักษาเด็กเชื้อเอชไอวี/เอดส์ การกระตุ้นพัฒนาและสร้างเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ การสร้างเสริมพลังอำนาจและการแสวงหาประโยชน์ทางสังคม โดยมีกิจกรรมกระบวนการกลุ่มสร้างสัมพันธ์ การคลายเครียด การดูแลตนเองและสร้างเครือข่าย ผู้วิจัยติดตามกลุ่มตัวอย่างโดยการเยี่ยมบ้าน 2 ครั้งและให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ เป็นเวลา 18 เดือน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามการรับรู้บทบาทของผู้ดูแล คุณภาพชีวิตของผู้ดูแล การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติ paired t-test เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพจากการทำกระบวนการกลุ่มเยี่ยมบ้านและการให้คำปรึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่าผู้ดูแลมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ในบทบาทของผู้ดูแลโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p < 0.05) และคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) และพบว่าผู้ดูแลสร้างพลังอำนาจในตนเอง สร้างกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน และสร้างเครือข่ายผู้ดูแลในชุมชน สามารถแสวงหาแหล่งช่วยเหลือทางสังคมและการรักษาให้แก่เด็กติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์
ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย โปรแกรมการเสริมสร้างศักยภาพสามารถประยุกต์ใช้ในการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ดูแลเด็กติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และโรคเรื้อรังต่างๆ ในชุมชนเพื่อให้ผู้ดูแลสร้างเครือข่ายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คำสำคัญ : ผู้ดูแล เด็กติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์โปรแกรมการเสริมสร้างศักยภาพ คุณภาพชีวิต