อัตราความชุกและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในชีวิตคู่ในสตรีที่ใช้บริการที่แผนกสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
Abstract
ความรุนแรงต่อสตรีเป็นการละเมิดสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานในระดับที่รุนแรงและเป็นประเด็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราความชุกและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาความรุนแรงในชีวิตคู่ สตรีไทยที่เข้าร่วมการวิจัยแบบตัดขวางครั้งนี้ มีจำนวน 337 ราย อายุ 15-67 ปี ซึ่งเข้ามาใช้บริการในแผนสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ระหว่างเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2550 ถึง มีนาคม พ.ศ.2551 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดความรุนแรงในชีวิตคู่ แบบวัดสัมพันธภาพในชีวิตคู่ แบบวัดการสนับสนุนทางสังคม และแบบวัดการเห็นคุณค่าในตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจง ความถี่ ร้อยละ ไคสแควร์ และการวิเคราะห์ถดถอยลอจิสติก
ผลการวิจัยพบว่า ใน 1 ปี ที่ผ่านมาสตรีประสบปัญหาการถูกสามีทำร้อยละ 66.2 โดยถูกทำร้ายด้านจิตใจ ด้านร่างกาย ด้านเพศ และด้านเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 65.3, 40.4, 38.6 และ 36.2 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาสัดส่วนของการถูกทำร้ายในแต่ละหอผู้ป่วยพบว่า สตรีที่ใช้บริการในหอผู้ป่วยสูตินรีเวชประสบปัญหาการถูกสามีทำร้ายในทุกรูปแบบสูงกว่าสตรีที่เข้าใช้บริการแบบผู้ป่วยนอกคลินิกนรีเวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน ร่างกายพบร้อยละ 49.64 เศรษฐกิจร้อยละ 47.12 และด้านเพศร้อยละ 46.15 ปัจจัยเสี่ยงของความรุนแรงในชีวิตคู่ ได้แก่ สตรีที่มีความสัมพันธภาพในชีวิตคู่ไม่ดี ( p < .01) และสตรีที่แยกทางจากสามี
( p < .05) โดยสตรีที่มีสัมพันธภาพในชีวิตคู่ไม่ดีเป็นปัจจัยทำนายความรุนแรงในชีวิตคู่ (OR = 1.97, 95% CI= 1.23-3.14, p < .01) อย่างไรก็ตามอธิบายความผันแปรของความรุนแรงในชีวิตคู่ได้เพียงร้อยละ 6
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย บุคลากรทีมสุขภาพควรมีความไวต่อปัญหาความรุนแรงในชีวิตคู่ และศึกษาวิจัยในสตรีที่มาใช้บริการในหน่วยรับบริการอื่นๆ รวมทั้งการสร้างเสริมสัมพันธภาพในชีวิตคู่เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในชีวิตคู่เพื่อลดปัญหาความรุนแรงใช้ชีวิตคู่
คำสำคัญ : ความรุนแรงในครอบครัว การทำร้ายภรรยา สัมพันธภาพในชีวิตคู่ ปัจจัยเสี่ยง