รูปแบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาอาจารย์เพื่อผลิตพยาบาล ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงในประเทศไทย
Abstract
วัตถุประสงค์การวิจัยเชิงบรรยายครั้งนี้ เพื่อศึกษาการรับรู้คุณลักษณะตนเองในนักศึกษาพยาบาล หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต ศึกษารูปแบบและกระบวนการการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษาเพื่อเป็นพยาบาลผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (advancedpractice nurse: APN) และรูปแบบการปฏิบัติทางคลินิกของอาจารย์พยาบาลในประเทศไทยทฤษฎีระบบและแนวคิดการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงใช้เป็นกรอบแนวคิดการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาและอาจารย์พยาบาลจากมหาวิทยาลัย 13 แห่ง ประกอบด้วยนักศึกษาปริญญาโทชั้นปีที่ 1 จำนวน 258 คน ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้คุณลักษณะของตนเอง และนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จำนวน 37 คน รวมทั้งอาจารย์พยาบาล จำนวน 41 คน ร่วมเป็นผู้ให้ข้อมูลในสัมภาษณ์แบบการสนทนากลุ่ม การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามวัดการรับรู้คุณลักษณะความสามารถของตนเองที่เข้าเรียนในระดับปริญญาโทและแนวคำถามการสนทนากลุ่มในกลุ่มอาจารย์ที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักศึกษาให้เป็น APN และการพัฒนาความเชี่ยวชาญทางคลินิกของอาจารย์พยาบาล (Faculty practice) การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติบรรยายและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาปริญญาโทชั้นปีที่ 1 ประเมินตนเองว่ามีคุณลักษณะที่แสดงถึงมีความสามารถระดับปานกลางที่จะศึกษาระดับปริญญาโท รูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษาพยาบาลหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิตมี 3 รูปแบบคือ 1) การสอนที่มีอาจารย์พยาบาลเป็นผู้สอนหลักในคลินิกร่วมกับการศึกษาดูงานบทบาท APN 2) การสอนที่มีอาจารย์พยาบาลสอนร่วมกับ APN และพยาบาลชำนาญการในแหล่งฝึก และ 3) การสอนที่มีอาจารย์พยาบาลสอนร่วมกับแพทย์ในแหล่งฝึกสอนในรายวิชาเวชปฏิบัติชุมชน อาจารย์พยาบาลประมาณครึ่งหนึ่งที่มีการปฏิบัติทางคลินิกในด้านที่สนใจ
ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าสถาบันการศึกษามีการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้นักศึกษามีความรู้และความสามารถที่จะไปพัฒนาตนเป็นผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงต่อไป
คำสำคัญ: พยาบาลผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง นักศึกษาพยาบาล การศึกษาพยาบาลปฏิบัติทางคลินิกของอาจารย์พยาบาล