การทบทวนการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ระเบียบวิธีการศึกษาและเนื้อหาของการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน จากสารนิพนธ์หรือการศึกษาอิสระในหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนหรือการพยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว ซึ่งดำเนินการศึกษาโดยใช้รูปแบบการปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์หรือการใช้ผลการวิจัย ระหว่างปีพ.ศ. 2548 - 2552 จำนวน 42 เรื่อง ผลการทบทวน พบว่า การศึกษาส่วนใหญ่ใช้รูปแบบการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ของศูนย์ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ประเทศสหรัฐอเมริกา(ร้อยละ 54.8) มีการดำเนินการถึงขั้นตอนการประเมินผล (ร้อยละ 69.1) โดยประเมินผลด้านกระบวนการและ/หรือผลลัพธ์ แต่เป็นการประเมินผลในระยะสั้นกับกลุ่มผู้ใช้บริการขนาดเล็ก การประเมินผลด้วยการวิจัยพบน้อยมาก หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้ในการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลเป็นงานวิจัยเชิงทดลองและกึ่งทดลองเป็นหลัก แนวปฏิบัติการพยาบาลที่พัฒนาขึ้นครอบคลุมบุคคลทุกวัย ทั้งที่มีภาวะสุขภาพปกติ กลุ่มเสี่ยง และผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ฉุกเฉิน และเฉียบพลัน และครอบคลุมบทบาทของพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนอย่างไรก็ตามแนวปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยเฉียบพลัน การคัดกรองปัญหาสุขภาพของกลุ่มต่างๆ และการฟื้นฟูสภาพผู้เจ็บป่วยเรื้อรังยังพบน้อย
ผลการศึกษาได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลอย่างต่อเนื่องและให้ทิศทางในการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลสำหรับหลักสูตรสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนต่อไป
คำสำคัญ: แนวปฏิบัติการพยาบาล การปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ การพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน