กิจกรรมและผลลัพธ์การดำเนินงานเกี่ยวกับการรักษาโรคเบื้องต้นของ พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน
Abstract
การวิจัยเชิงผลลัพธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากิจกรรมและผลลัพธ์ของพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนด้านการรักษาโรคเบื้องต้น กลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนที่มีผลงานเป็นเลิศ 1 คนและผู้ใช้บริการจำนวน 200 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการตอบแบบสอบถามด้วยตนเองสำหรับพยาบาล การสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามจากผู้ใช้บริการและการสังเกตแบบมีโครงสร้าง
ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 76.5) เป็นเพศหญิงอายุเฉลี่ย 40.68+15.98 ปี มาตรวจด้วยปัญหาระบบทางเดินหายใจมากที่สุด ใช้เวลาเฉลี่ยในการตรวจรักษา 8.28 นาที (ค่าพิสัย 6-10 นาที) ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 97.0)ได้รับการตรวจร่างกาย วินิจฉัยแยกโรค และให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่ตรวจพบเกือบทั้งหมดได้รับการสอนสุขศึกษา (ร้อยละ 98.5) มีโอกาสในการสอบถามปัญหาสุขภาพหรือวิธีการปฏิบัติตัว (ร้อยละ 97.5) ได้รับยา (ร้อยละ 99.5) และคำแนะนำการใช้ยา(ร้อยละ 97.0) โดยยาที่ใช้มากที่สุด คือพาราเซตามอล (ร้อยละ 60.0) เกือบครึ่งได้รับการทำหัตถการ (ร้อยละ 48.5) ส่วนความพึงพอใจของผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ (ร้อยละ98.0) อยู่ในระดับดี ผลการรักษาพบว่า หายหรือมีอาการเป็นปกติ (ร้อยละ 73.0) และมีอาการดีขึ้น (ร้อยละ 27.0) ความคาดหวังในการมาใช้บริการ พบว่า เกือบทั้งหมดจะมาใช้บริการอีก (ร้อยละ 99.5) ในด้านค่าใช้จ่ายพบว่ามีค่าเดินทางเฉลี่ย 12.20 บาทต่อคนต่อเที่ยวและค่ายาเฉลี่ย 24.57 บาทต่อคนต่อครั้ง
ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมในด้านการรักษาโรคเบื้องต้นของพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ใช้บริการ
คำสำคัญ: การรักษาโรคเบื้องต้น/ ผลลัพธ์ /พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน