ผลของโปรแกรมความเชื่อด้านสุขภาพต่อความตั้งใจในการใช้ถุงยาง อนามัยของนักเรียนอาชีวศึกษาเพศชาย
Abstract
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมความเชื่อด้านสุขภาพต่อความตั้งใจในการใช้ถุงยางอนามัยของนักเรียนอาชีวศึกษาเพศชาย โดยใช้แนวคิดความเชื่อด้านสุขภาพของ Becker and Maiman ร่วมกับแนวคิดทฤษฎีความสัมพันธ์เชื่อมโยงของ Thorndike มาประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนความเชื่อด้านสุขภาพของนักเรียนอาชีวศึกษา กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนอาชีวศึกษาเพศชาย หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 3 จาก 2 โรงเรียน เลือกมาโรงเรียนละ 1 ห้อง โดยการสุ่มอย่างง่าย รวมทั้งหมด 60 คน กลุ่มควบคุมได้รับความรู้ตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมความเชื่อด้านสุขภาพ เครื่องมือกำกับการทดลอง ได้แก่ แบบวัดการรับรู้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ และการตั้งครรภ์ แบบวัดการรับรู้ความรุนแรงของโรคที่เกิดจากการไม่ใช้ถุงยางอนามัย แบบวัดการรับรู้ประโยชน์ของถุงยางอนามัย แบบวัดการรับรู้อุปสรรคในการใช้ถุงยางอนามัย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบวัดความตั้งใจในการใช้ถุงยางอนามัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า
ค่าเฉลี่ยของคะแนนความตั้งใจในการใช้ถุงยางอนามัยของนักเรียนอาชีวศึกษาเพศชายหลังได้รับโปรแกรมความเชื่อด้านสุขภาพสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมความเชื่อด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01) และค่าเฉลี่ยของคะแนนความตั้งใจในการใช้ถุงยางอนามัยของนักเรียนอาชีวศึกษาเพศชาย กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมความเชื่อด้านสุขภาพสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับความรู้ตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01)
ข้อเสนอแนะ พยาบาลที่ปฏิบัติงานในชุมชนควรนำโปรแกรมความเชื่อด้านสุขภาพไปประยุกต์ในการปฏิบัติงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวศึกษาชายมีความตั้งใจในการใช้ถุงยางอนามัย
คำสำคัญ : โปรแกรมความเชื่อด้านสุขภาพ ความตั้งใจในการใช้ถุงยางอนามัย นักเรียนอาชีวศึกษาเพศชาย