ผลของโปรแกรมบำบัดพฤติกรรมทางความคิดต่อภาวะซึมเศร้า ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก่อนและหลังการได้รับโปรแกรมบำบัดพฤติกรรมทางความคิด และเปรียบเทียบภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีจำนวน 30 คน จับคู่ตามคุณลักษณะที่คล้ายกัน ได้แก่ เพศ แผนการรักษาที่ได้รับสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายแยกเป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยคือ โปรแกรมบำบัดพฤติกรรมทางความคิด และ 2) แบบประเมินภาวะซึมเศร้าของเบค (Beck Depressive Inventory) การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีภาวะซึมเศร้าภายหลังได้รับโปรแกรมบำบัดพฤติกรรมทางความคิด น้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) และกลุ่มทดลองมีภาวะซึมเศร้าน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)
จากผลการวิจัยในครั้งนี้ควรมีการนำโปรแกรมบำบัดพฤติกรรมทางความคิดไปใช้เป็นแนวทางในการให้การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และกลุ่มผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้การพยาบาลผู้ป่วย
คำสำคัญ: ภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โปรแกรมบำบัดพฤติกรรมทางความคิด