แบบสอบถามความต้องการการสื่อสารข่าวร้าย: ลักษณะคุณภาพแบบวัด ฉบับภาษาไทย
Abstract
การแจ้งข่าวร้ายในผู้ป่วยมะเร็ง เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดความต้องการของผู้ป่วยในการสื่อสารเรื่องไม่พึงประสงค์นี้จึงมีความสำคัญ เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากการได้รับข่าวร้าย การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบคุณภาพของแบบสอบถามความต้องการการสื่อสารข่าวร้ายฉบับภาษาไทย กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมในการศึกษาเป็นผู้ป่วยมะเร็งกระดูกของโรงพยาบาลตติยภูมิในกรุงเทพจำนวน 135 รายแบบสอบถามความต้องการการสื่อสารข่าวร้ายต้นฉบับภาษาอังกฤษถูกแปลกลับเป็นฉบับภาษาไทย ความตรงตามเนื้อหา ความสอดคล้อง และความถูกต้องของภาษาตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ความเข้าใจในภาษาที่ใช้ตรวจสอบโดยผู้ป่วยมะเร็งกระดูกจำนวน30 ราย แบบสอบถามต้นฉบับจำนวน 32 ข้อที่มี 3 หมวดย่อย ถูกปรับลดลงเป็น 27 ข้อในฉบับภาษาไทย การวิเคราะห์ตัวประกอบหลักด้วยวิธีการหมุนวาริแม็กซ์พบโครงสร้าง2 หมวดย่อยจากแบบสอบถามความต้องการการสื่อสารข่าวร้ายฉบับภาษาไทย 27 ข้อคือด้านข้อมูล (12 ข้อ) และด้านการสนับสนุนและเอื้ออำนวย (15 ข้อ) โดยมีค่าความแปรปรวนที่อธิบายได้ทั้งฉบับร้อยละ 41.2 ค่าน้ำหนักตัวประกอบอยู่ระหว่าง .390-.704 ค่าสัมประสิทธิ์ครอนบาคอัลฟาทั้งฉบับเท่ากับ .91 และแต่ละหมวดย่อยอยู่ระหว่าง .87-.88 แบบสอบถามความต้องการการสื่อสารข่าวร้ายฉบับภาษาไทยมีความเที่ยงและความตรงในการประเมินความต้องการของผู้ป่วยในการสื่อสารข่าวร้าย แบบสอบถามนี้สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติทางคลินิก เพื่อค้นหาว่าผู้ป่วยมะเร็งต้องการให้บุคลากรทางสุขภาพสื่อสารอย่างไรในระหว่างการแจ้งข่าวร้าย
คำสำคัญ: ข่าวร้าย มะเร็ง การสื่อสาร ความต้องการของผู้ป่วย ลักษณะคุณภาพแบบวัด