การพัฒนาแนวปฏิบัติในการสนับสนุนการเลิกบุหรี่ของผู้ใช้บริการคลิกนิกอดบุหรี่
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติในการสนับสนุนการเลิกบุหรี่ของผู้ใช้บริการคลินิกอดบุหรี่ โดยใช้กระบวนการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกของสภาการวิจัยแห่งชาติ ประเทศออสเตรเลีย และแบบจำลองขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแบ่งการศึกษาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนาแนวปฏิบัติ และระยะที่ 2 การตรวจสอบคุณสมบัติของแนวปฏิบัติ ได้แก่ ความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ และความพึงพอใจของผู้ใช้แนวปฏิบัติ
แนวปฏิบัติที่พัฒนา ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) การประเมินประวัติการติดบุหรี่2) การวางแผน และการจำแนกผู้ใช้บริการตามแบบจำลองขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของโปรชาสกาและไดคลิเมนท์ และ 3) การประเมินผล ผลการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาแนวปฏิบัติจากผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 ราย เห็นชอบตามการประเมินประวัติการติดบุหรี่และการประเมินผล ส่วนการวางแผนและการจำแนกผู้ใช้บริการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ 2ใน 5 ราย ไม่เห็นชอบกิจกรรมกลุ่มเริ่มคิดถึงการเลิกบุหรี่ กลุ่มพร้อมจะเลิกบุหรี่และกลุ่มเลิกบุหรี่ได้ ข้อเสนอแนะคือ ควรเพิ่มกิจกรรมที่ทำให้ผู้ใช้บริการเห็นถึงข้อดีและข้อเสียของการเลิกบุหรี่ ทางเลือกต่างๆ ในการเลิกบุหรี่ และการดูแลผู้กลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ
สำหรับการประเมินความเป็นไปได้ของการนำแนวปฏิบัติไปใช้ พบว่า ผู้ใช้แนวปฏิบัติทั้ง 5 ราย ระบุว่า การประเมินประวัติการติดบุหรี่และการประเมินผล สามารถนำไปใช้ได้ง่ายส่วนการวางแผนและการปฏิบัติด้านการสร้างความตระหนักในการเลิกบุหรี่ ผู้ใช้แนวปฏิบัติ1 ใน 5 ราย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุข ระบุว่า ยากต่อการปฏิบัติ เนื่องจากมีประสบการณ์น้อย (ประสบการณ์ทำงาน 1 ปีครึ่ง) ทำให้ขาดความมั่นใจในการให้บริการข้อเสนอแนะคือ เพิ่มแนวคำถามสะท้อนคิดในการสร้างความตระหนักเพื่อการเลิกบุหรี่ดังนั้นในการนำแนวปฏิบัตินี้ไปใช้จึงควรจัดให้มีการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานก่อนนำไปใช้โดยเฉพาะการฝึกทักษะการสร้างความตระหนักในการเลิกบุหรี่และการตั้งคำถามสะท้อนคิดเพื่อให้สามารถสนับสนุนการเลิกบุหรี่ของผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ: การพัฒนาแนวปฏิบัติ การเลิกบุหรี่ ผู้ใช้บริการคลินิกอดบุหรี่