ผลของการสัมผัสควันต่อสมรรถภาพปอดของประชาชนวัยผู้ใหญ่ ที่อาศัยในชุมชน
Abstract
การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสมรรถภาพปอดของประชาชนในภาคใต้ตอนบนที่อาศัยอยู่ในชุมชนสัมผัสควันจากโรงงานเตาเผาอิฐ และเตาเผาใบจากในรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากแหล่งกำเนิดควัน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 159 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปและเครื่องมือในการตรวจร่างกาย เครื่องชั่งน้ำหนัก แถบวัดสไปโรมิเตอร์ และแคลิปเปอร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติความถี่ ร้อยละ ไคว์สแควร์ และการวิเคราะห์การถดถอยพหุแบบลอจิสติก
ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.3 เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 47.9 ปี(SD = 14.67) ดัชนีมวลกายผิดปกติร้อยละ 57.3 (BMI > 22.9 = 51.6 %, BMI < 18.5= 5.7) สัดส่วนเอวต่อสะโพกผิดปกติร้อยละ 34.0 ปริมาณไขมันในร่างกายผิดปกติ ร้อยละ54.1 (น้อยกว่าปกติ 17.6% และมากกว่าปกติ 36.5%) สมรรถภาพปอดผิดปกติร้อยละ29.6 โดยปัจจัยทำนายสมรรถภาพปอดที่ผิดปกติ คือ ดัชนีมวลกายที่น้อยกว่า 18.5(odds ratio = 4.325, 95% confident interval = 1.00-18.91, p = 0.05)
ข้อเสนอแนะ จากการศึกษาครั้งนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่สัมผัสควันควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดประจำปี จัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอดโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ควรมีการรณรงค์และพัฒนาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงคุณภาพของอากาศอย่างต่อเนื่อง
คำสำคัญ: สมรรถภาพปอด สัมผัสควัน