ปัจจัยทำนายผลลัพธ์การบาดเจ็บของผู้ป่วยผู้ใหญ่ในระยะเร่งด่วนฉุกเฉิน
Abstract
ค่าดรรชนีแสดงภาวะช็อกเป็นเกณฑ์สำคัญที่หน่วยฉุกเฉินหลายประเทศทั่วโลกใช้ประเมินผลลัพธ์การบาดเจ็บในระยะเร่งด่วนฉุกเฉิน การศึกษาเพื่อหาปัจจัยทำนายค่าดรรชนีแสดงภาวะช็อกซึ่งสะท้อนผลลัพธ์การบาดเจ็บจึงมีความสำคัญต่อการช่วยให้ผู้บาดเจ็บได้รับการแก้ไขภาวะช็อกอย่างมีประสิทธิภาพ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอำนาจการทำนายความรุนแรงของการบาดเจ็บการตอบสนองของร่างกายหลังการบาดเจ็บ และระดับความอิ่มตัวของออกซิเจน ต่อผลลัพธ์การบาดเจ็บในผู้ป่วยผู้ใหญ่ซึ่งประเมินด้วยค่าดรรชนีแสดงภาวะช็อก กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้บาดเจ็บที่ได้รับการคัดกรองประเภทฉุกเฉินและฉุกเฉินมาก จำนวน 78 คน เก็บข้อมูลย้อนหลังจากแฟ้มข้อมูลของผู้ป่วย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลแบบบันทึกระดับความอิ่มตัวของออกซิเจน แบบประเมินความรุนแรงของการบาดเจ็บแบบประเมินการตอบสนองของร่างกายหลังการบาดเจ็บ และประเมินผลลัพธ์การบาดเจ็บด้วยการใช้ค่าดรรชนีแสดงภาวะช็อก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติถดถอยพหุคูณ
ผลการศึกษาพบว่า ผู้บาดเจ็บเกือบทั้งหมดเป็นเพศชาย (ร้อยละ 92.3) อายุเฉลี่ย33.62 ปี ส่วนใหญ่ได้รับการบาดเจ็บชนิดกระแทก (ร้อยละ 79.5) และเกิดการบาดเจ็บจากการจราจร (ร้อยละ 55.1) จากการวิเคราะห์ พบว่า การตอบสนองของร่างกายหลังการบาดเจ็บ และความรุนแรงของการบาดเจ็บ สามารถร่วมกันทำนายผลลัพธ์การบาดเจ็บได้ร้อยละ 37.6 (R2 = .376, p < 0.05)
จากการศึกษาครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า ผู้บาดเจ็บในระยะเร่งด่วนฉุกเฉินทุกรายควรได้รับการประเมินค่าดรรชนีแสดงภาวะช็อก โดยเฉพาะผู้ป่วยบาดเจ็บรุนแรง เสียเลือด หรือมีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ได้รับการแก้ไขภาวะคุกคามชีวิตได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม
คำสำคัญ: ผู้บาดเจ็บ ความรุนแรงของการบาดเจ็บ การตอบสนองของร่างกายหลังการบาดเจ็บผลลัพธ์การบาดเจ็บ ดรรชนีแสดงภาวะช็อก