ภาวะสุขภาพและการปฏิบัติตัวด้านสุขภาพของนักศึกษาพยาบาลไทย
Abstract
การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพกาย จิตใจ และจิตสังคม และการปฏิบัติตัวด้านสุขภาพของนักศึกษาพยาบาลไทยที่ศึกษาในสถาบันการศึกษาพยาบาลที่สังกัดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างคือ นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 1-4 จำนวน 756 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล การรับรู้สุขภาพกาย ความรู้สึกด้านจิตใจ สัมพันธภาพกับบุคคลอื่น และการปฏิบัติตัวด้านสุขภาพ นำข้อมูลที่ได้ไปทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 98.15 เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 19.86 ปี (SD = 1.27) ร้อยละ 73.5 มีสุขภาพฟันปกติ ร้อยละ 53.97 มีสายตาปกติ สำหรับอาการและอาการแสดงต่างๆ ทางร่างกายที่เกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้แก่ ปวดศีรษะ (ร้อยละ 87.43) ปวดเมื่อยตามตัว (ร้อยละ 71.83) หวัด (ร้อยละ68.39) ความรู้สึกด้านจิตใจทางลบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 93.52 รู้สึกหงุดหงิด ร้อยละ 92.06 รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ร้อยละ 86.24 รู้สึกเหงา สำหรับสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า นักศึกษาร้อยละ 99.74 มักไปเยี่ยมพ่อแม่พี่น้อง ญาติ หรือเพื่อน เมื่อมีเวลาว่าง และนักศึกษาร้อยละ 99.74 บอกว่าสามารถทำงานกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น นักศึกษาร้อยละ 99.60 บอกว่าได้รับการยกย่องนับถือจากคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน หรืออาจารย์ ส่วนการปฎิบัติตัวเมื่อเจ็บป่วยหรือไม่สบายกาย พบว่า นักศึกษาร้อยละ 43.12 ไปหน่วยอนามัยพบแพทย์ ร้อยละ 34.26ซื้อยาจากร้านขายยามารับประทานเอง ร้อยละ 32.41 ปล่อยให้หายเอง เมื่อนักศึกษาไม่สบายใจพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.10 ปรึกษาเพื่อนที่ไว้ใจได้ ร้อยละ 83.33แก้ปัญหาด้วยตนเอง และร้อยละ 33.20 ปรึกษาบิดามารดา/คนในครอบครัว
จากผลการศึกษาในครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการให้ความรู้เรื่องสุขภาพและการดูแลตนเองให้แก่นักศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้นักศึกษาคิดและพัฒนากิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพที่พบ
คำสำคัญ : ภาวะสุขภาพ การปฏิบัติตัวด้านสุขภาพ นักศึกษาพยาบาลไทย