ความชุกและองค์ประกอบของกลุ่มอาการเมตาบอลิคของประชาชนใน จังหวัดนครราชสีมา
Abstract
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงบรรยายแบบภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและองค์ประกอบของกลุ่มอาการเมตาบอลิคในประชาชนเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนได้กลุ่มตัวอย่าง149 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ถึง มีนาคม 2552 โดยใช้แบบบันทึกข้อมูลและการตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยกลุ่มอาการเมตาบอลิคใช้เกณฑ์ของโครงการศึกษาคอเลสเตอรอลของสหรัฐอเมริกา (The NationalCholesterol Education Program ATP III) แต่ใช้เกณฑ์เส้นรอบเอวตามเกณฑ์ของชาวเอเชีย ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุตั้งแต่ 20 ถึง 88 ปี เฉลี่ย 50.38 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 56.4 พบความชุกของอาการเมตาบอลิคร้อยละ 30.1 เป็นเพศหญิงร้อยละ 18.2 ปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดคือ การมีรอบเอวเกินเกณฑ์ในเพศหญิง และมีไตรกลีเซอไรด์สูงในเพศชาย และพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีกลุ่มอาการเมตาบอลิคพบมีปัจจัยเสี่ยงครบ 3 ใน 5 องค์ประกอบมีจำนวนร้อยละ 22.1 แต่ไม่พบผู้มีปัจจัยเสี่ยงทั้ง 5 องค์ประกอบ กลุ่มตัวอย่างมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงร้อยละ 32.8 ความดันโลหิตซิสโตลิคสูงร้อยละ 24.1 ความดันโลหิตไดแอสโตลิคสูง ร้อยละ 13.5 พบภาวะความทนทานน้ำตาลผิดปกติ และระดับน้ำตาลในเลือดถึงเกณฑ์ที่เป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 10.7 และร้อยละ6.7 ตามลำดับ
การศึกษาครั้งนี้พบว่า ความชุกของกลุ่มอาการเมตาบอลิคสูงกว่าผลการสำรวจสุขภาพประชากรไทยในปี 2551-52 และมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดตั้งแต่ 1 ถึง 4องค์ประกอบ ดังนั้น บุคลากรด้านสุขภาพควรส่งเสริมให้ประชาชนมีการป้องกันหรือชะลอกลุ่มอาการเมตาบอลิค รวมถึงการแนะนำการมีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่สร้างเสริมสุขภาพเพื่อวางแผนป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว
คำสำคัญ: ความชุก กลุ่มอาการเมตาบอลิค ความดันโลหิตสูง นํ้าตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง