กระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน
Abstract
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสถานการณ์พฤติกรรมเสี่ยงและต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนในชุมชน และ 2) ศึกษารูปแบบการพัฒนาต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนโดยใช้แนวคิดกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 พื้นที่ ได้แก่ อบต.ไทยบุรี อบต. บางจาก อบต.ท่าพญา และเทศบาลปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งสิ้น 473 คน แบ่งการดำเนินงาน 4 ระยะ คือ 1) การเตรียมตัว 2) การกำหนดนโยบายสาธารณะ 3) การดำเนินงาน และ 4) การประเมินผล
ผลการวิจัย พบว่า เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยงมากที่สุด คือ ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และพฤติกรรมทางเพศ คิดเป็นร้อยละ 7, 6.1, และ 5.9 ตามลำดับ และมีต้นทุนชีวิตด้านพลังครอบครัวมากที่สุด โดยรู้สึกว่าบ้านเป็นที่อบอุ่น ปลอดภัยส่งเสริมการเรียน เอาใจใส่ และเป็นตัวอย่างที่ดีของลูก และพบว่ามีพลังตัวตนน้อยที่สุดได้แก่ การให้ความสคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ใช้สติแก้ปัญหาความขัดแย้ง พูดความจริงและไม่ใช้ความรุนแรง รูปแบบการพัฒนาต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) การกำหนดนโยบายสาธารณะ 2) การดำเนินงานตามนโยบาย 3) การประเมินนโยบาย และ 4) การเผยแพร่นโยบายและขยายเครือข่าย นโยบายแรกคือ การส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชน ได้แก่ การจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตำบล การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนการสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ การให้รางวัลเด็กที่ทำความดี และการสนับสนุนกองทุนเด็กและเยาวชน นโยบายที่สอง คือ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้แก่ การจัดอบรมการพัฒนาเยาวชนเชิงบวก และการส่งเสริมกิจกรรมของครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ผลการประเมินพบว่านโยบายดังกล่าวทำให้ต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น
ข้อเสนอแนะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรให้ความสำคัญและเป็นแกนนำหลักในการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนของตำบลโดยมุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
คำสำคัญ: กระบวนการนโยบายสาธารณะ ต้นทุนชีวิต เด็กและเยาวชน