การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ด้วยโยคะ
Abstract
การวิจัยเชิงปฏิบัติการระดับเทคนิคนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ด้วยโยคะ ศึกษาปัจจัยสนับสนุน และอุปสรรคในการใช้รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ด้วยโยคะ กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีตั้งครรภ์ 15คน คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง กระบวนการวิจัยอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้วิจัย สตรีตั้งครรภ์ และครอบครัว เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพโดยสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการบันทึกภาคสนาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความ สรุปประเด็น และสร้างรูปแบบ ส่วนข้อมูลแบบสอบถามส่วนบุคคล วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติแจกแจงความถี่ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลวิจัยพบว่ารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ด้วยโยคะประกอบด้วย1) กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ 2) การส่งเสริมความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพ 3) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ4) ความสามารถของสตรีตั้งครรภ์ในการสร้างเสริมสุขภาพ และ 5) ผลลัพธ์ของการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพตั้งครรภ์มี4 ระยะคือ “เปิดใจรับกับโยคะเพื่อชีวิตใหม่” “ค้นหาความลงตัวของโยคะกับชีวิตตน”“มั่นใจว่ามาถูกทาง” และ “ปฏิบัติต่อเนื่องจนคลอด” การส่งเสริมความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพ คือ ให้ข้อมูล สอน สร้างแรงสนับสนุนทางสังคม
กลยุทธ์ที่ใช้ส่งเสริมความสามารถกลุ่มตัวอย่างคือ สร้างการยอมรับและความไว้วางใจ การมีส่วนร่วม การสร้างเสริมพลังอำนาจ ทำกลุ่มสะท้อนคิด เป็นเพื่อนรับฟัง ให้ลูกเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงทางใจ โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือความปรารถนามีลูก แรงสนับสนุนจากครอบครัว การช่วยเหลือในกลุ่มที่ฝึกร่วมกัน การรับรู้ประโยชน์ คำชมเชย และผลตรวจจากแพทย์ อุปสรรคจากการใช้รูปแบบนี้คือ การสื่อสารสิ่งที่เป็นนามธรรมในองค์ความรู้ของโยคะ
ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ คือ พยาบาลสามารถนำรูปแบบและนำแนวทางปฏิบัตินี้ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยฝากครรภ์ หรือการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้สตรีตั้งครรภ์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแก่สตรีตั้งครรภ์
คำสำคัญ: รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพ สตรีตั้งครรภ์ โยคะ