ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฟื้นตัวหลังผ่าตัดของผู้ป่วยที่ได้รับการ ผ่าตัดช่องท้องในระยะ 1 สัปดาห์แรก
Abstract
หลังผ่าตัดช่องท้องในระยะ1 สัปดาห์แรก ร่างกายของผู้ป่วยต้องปรับตัวเพื่อคืนสู่สภาพเดิม กระบวนการดังกล่าว คือ กระบวนการฟื้นตัวหลังผ่าตัด ซึ่งจะราบรื่นหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆทั้งปัจจัยที่เกิดจากสภาพของผู้ป่วยและปัจจัยแวดล้อม
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้องของระบบทางเดินอาหาร ตับและทางเดินน้ำดี ที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บทั้งกลุ่มที่มีการนัดหมายการผ่าตัดไว้ล่วงหน้าและกลุ่มผ่าตัดฉุกเฉิน ในระยะ 1 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ผู้วิจัยใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านของ เมลลิส (Meleis) เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษากลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 100 ราย เครื่องมือการวิจัย ประกอบด้วย (1) แบบประเมินภาวะโภชนาการ (2) แบบประเมินสภาพผู้ป่วยระหว่างผ่าตัด (3) เครื่องวัดอุณหภูมิกายทางเยื่อบุแก้วหูโดยผ่านแสงอินฟาเรด และ(4) แบบประเมินการฟื้นตัวหลังผ่าตัด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน กำหนดระดับนัยสำคัญที่ .05 ผลการวิจัย พบว่าภาวะโภชนาการ สภาพผู้ป่วยระหว่างผ่าตัด มีความสัมพันธ์กับการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้องท้องที่ r = .28 (p < .01) และ r = .29 (p < .01) ตามลำดับ
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ผู้ป่วยผ่าตัดช่องท้องทุกรายควรได้รับการประเมินและส่งเสริมภาวะโภชนาการตั้งแต่ระยะก่อนผ่าตัด และควรได้รับการประเมินสภาพระหว่างผ่าตัดเพื่อเฝ้าระวังและจัดการเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัดให้เกิดความราบรื่น
คำสำคัญ: การฟื้นตัว ผ่าตัดช่องท้อง ภาวะโภชนาการ สภาพผู้ป่วยระหว่างผ่าตัดทฤษฎีการเปลี่ยนผ่าน