จริยธรรมในการเผยแพร่ผลงาน

ความรับผิดชอบของผู้แต่งบทความ

1) รายชื่อผู้แต่งบทความ: รายชื่อผู้แต่งที่ปรากฏบนบทความควรมีเฉพาะผู้ที่มีส่วนสำคัญในการคิดหัวข้อวิจัย ออกแบบ ดำเนินการ หรือแปลผลการวิจัยตามที่ปรากฏในบทความ ทุกคนซึ่งมีส่วนร่วมอย่างสำคัญควรได้รับการระบุชื่อว่าเป็นผู้เขียนโดยเรียงลำดับตามสัดส่วนของการมีส่วนร่วม ผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในลักษณะอื่น ๆ ควรได้รับการกล่าวถึงในกิตติกรรมประกาศ
ผู้ประสานงานบทความควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญทุกท่านมีชื่อปรากฏเป็นผู้เขียนบทความและไม่ปรากฏชื่อบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้เขียนบทความ ผู้ประสานงานบทความต้องมั่นใจว่า ผู้เขียนทุกท่านได้อ่านและยินยอมให้มีการส่งบทความมายังวารสาร ยินยอมให้มีการเผยแพร่บทความฉบับสุดท้าย และยินยอมที่จะรับผิดชอบในผลงานที่ส่งมายังวารสาร

2) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน: ผู้เขียนทุกท่านต้องเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งอาจมีผลสำคัญหรือมีอิทธิพลต่อผลการวิจัยหรือการแปลผลการวิจัยดังที่ปรากฏอยู่ในบทความ แหล่งเงินทุนสนับสนุนการวิจัยหรือการจัดทำบทความจะต้องถูกกล่าวถึงในกิตติกรรมประกาศ

3) การเป็นผลงานต้นฉบับ: เมื่อผู้เขียนส่งบทความมายังวารสารถือว่าเป็นการยืนยันของผู้เขียนต่อวารสารว่า เจ้าของบทความคือคณะผู้เขียนโดยแท้จริง ส่วนแนวคิดและข้อความต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ของผู้เขียน แต่ได้ถูกระบุไว้ในบทความจะต้องได้รับการอ้างอิงอย่างเหมาะสม ผู้เขียนจะต้องยืนยันว่า บทความที่ส่งมายังว่าสารนั้นไม่เคยถูกเผยแพร่ในวารสารหรือไม่ถูกนำเสนอในการประชุมวิชาการต่าง ๆ มาก่อน (เว้นแต่ว่ามีการเพิ่มเติมอย่างสำคัญจนถือว่าเป็นงานที่ต่างจากงานที่นำเสนอ) และไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวารสารเล่มอื่น การส่งบทความเข้าสู่การพิจารณาของวารสารมากกว่า 1 ฉบับในเวลาเดียวกันถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรม

4) มาตรฐานการเขียนบทความ: รายละเอียดในบทความควรมีมากพอสมควรที่จะทำให้ผู้อ่านสามารถทำวิจัยซ้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของระเบียบวิธีวิจัยในประเด็นที่สำคัญ การนำเสนอข้อมูลในรายงานจะต้องมีความถูกต้อง การดัดแปลงข้อมูลหรือการจงใจแปลผลข้อมูลอย่างไม่ถูกต้อง ถือเป็นพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรม

5) การเข้าถึงข้อมูลและการเก็บรักษาข้อมูล: วารสารอาจขอให้ผู้เขียนส่งมอบข้อมูลดิบที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องหากมีข้อสงสัย ดังนั้นผู้เขียนควรเก็บข้อมูลของการวิจัยไว้หลังการวิจัยเสร็จสิ้นจนกว่าจะได้รับการตีพิมพ์บทความไปแล้วระยะหนึ่ง

6) การพบข้อผิดพลาดที่สำคัญในงานตีพิมพ์: หากผู้เขียนพบความผิดพลาดที่มีความสำคัญในการวิจัยภายหลัง หรือพบความไม่ถูกต้องในงานที่ตีพิมพ์ ผู้เขียนมีหน้าที่แจ้งต่อวารสารและประสานงานกับบรรณาธิการเพื่อให้ปรับแก้บทความให้มีความถูกต้องหรือถอนบทความหากจำเป็น

 

ความรับผิดชอบของผู้ทรงคุณวุฒิ

วารสารแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 2 ท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับบทความนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิมีหน้าที่ช่วยเหลือบรรณาธิการในการตัดสินว่าควรตีพิมพ์บทความหรือไม่ และในขณะเดียวกัน มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้เขียนเพื่อพัฒนาคุณภาพบทความ ผู้ทรงคุณวุฒิควรถอนตัวจากการพิจารณาบทความถ้าพบว่าตนเองไม่อาจประเมินบทความได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม ความรับผิดชอบของผู้ทรงคุณวุฒิต่อการประเมินบทความมีดังนี้

1) การเปิดเผยข้อมูลและผลประโยชน์ทับซ้อน: ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่รับพิจารณาบทความที่ตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่นเป็นบทความที่ตนเองมีส่วนร่วม หรือเป็นคู่แข่ง หรือมีความสัมพันธ์ใด ๆ กับผู้เขียน บริษัท หรือหน่วยงานซึ่งเล็งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อการประเมินบทความอย่างสำคัญ

2) การประเมินบทความตามกำหนดเวลา

3) การถือว่าบทความเป็นความลับ: บทความที่ผู้ทรงคุณวุฒิรับประเมินควรถือเป็นเอกสารลับ ข้อมูลและแนวคิดต่าง ๆ ที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้รับทราบในกระบวนการตรวจสอบบทความนั้น ควรต้องถือเป็นความลับและต้องไม่ใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว 

4) ความปราศจากอคติในการประเมินบทความ : ผู้ทรงคุณวุฒิควรประเมินบทความด้วยความเป็นธรรมและปราศจากอคติ ผู้ประเมินควรแสดงความเห็นของตนอย่างชัดเจน พร้อมคำอธิบายหรือคำแนะนำอย่างละเอียดและสร้างสรรค์เพื่อช่วยให้ผู้เขียนบทความสามารถพัฒนาบทความของตนต่อไป

 

ความรับผิดชอบของบรรณาธิการ

1) ความยุติธรรมในการประเมินบทความ: บรรณาธิการจะประเมินบทความในส่วนที่เป็นเนื้อหาทางวิชาการโดยไม่มีอคติในเรื่องคุณลักษณะใด ๆของผู้เขียนหรือองค์กร

2) ความลับของบทความ: บรรณาธิการจะไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบทความที่ส่งมายังวารสารกับผู้หนึ่งผู้ใดนอกจากผู้ประสานงานบทความ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่อาจเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากนี้บรรณาธิการจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้กระบวนการพิจารณาบทความเป็นไปอย่างปกปิดแบบ 2 ด้านและเป็นธรรม โดยไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิกับผู้ใด 

3) การพบเห็นการกระทำผิดจริยธรรม: หากพบว่ามีการกระทำผิดจริยธรรมทางวิชาการ บรรณาธิการจะหยุดการพิจารณาบทความนั้นและติดต่อขอคำชี้แจงพร้อมหลักฐานจากผู้แต่งบทความ 

4) การเปิดเผยข้อมูลและผลประโยชน์ทับซ้อน: บรรณาธิการจะต้องทราบถึงแหล่งที่มาของเงินทุนวิจัยหรือแหล่งทุนสำหรับการจัดทำบทความ บรรณาธิการจะพยายามป้องกันไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้เขียน ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลในกองบรรณาธิการ 

5) ความผิดพลาดที่พบในบทความที่ตีพิมพ์: เมื่อผู้เขียนพบความผิดพลาดที่สำคัญหรือพบความไม่ถูกต้องในงานตีพิมพ์ของตนและได้รายงานแก่บรรณาธิการ บรรณาธิการจะตีพิมพ์หน้าแก้ไขเพื่อปรับบทความให้มีความถูกต้อง หรือเพิกถอนบทความหากจำเป็น