แนวทางการรักษาโรครองช้ำ
Main Article Content
บทคัดย่อ
ภาวะโรครองช้ำ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด งานวิจัยหลายชิ้นอธิบายว่าเกิดจากเอ็นร้อยหวายและเอ็นใต้ฝ่าเท้าที่ตึงตัวมากกว่าปกติและน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีอาการเจ็บที่ส้นเท้าได้ อาการนำ คือเจ็บส้นเท้าหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือตอนไม่ได้ขยับตัวเป็นเวลานานเมื่อขยับก้าวแรก ๆจะปวดมาก จากนั้นจะทุเลาลง มักจะเจ็บที่ตำแหน่งส้นเท้าด้านใน พบได้ร้อยละ 70-75 ปัจจุบันการไม่ผ่าตัดจะให้ผลดีมากกว่าร้อยละ 80 อาการจะดีขึ้นที่ 6 เดือน ด้วยวิธีการรักษาที่หลากหลาย จึงเกิดคำถามว่าวิธีใดที่ได้ผลลัพธ์ดีเหมาะสมและคุ้มค่ากับผู้ป่วย บทความนี้ได้ศึกษาเอกสารวิชาการเกี่ยวกับการรักษาโรครองช้ำด้วยวิธีต่าง ๆและหาข้อสรุปเพื่อประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยต่อไป ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตอบสนองและให้ผลดีต่อการรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยผู้ป่วยร้อยละ 80 ตอบสนองต่อยาแก้ปวดชนิดที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ได้ดี ส่วนการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปตำแหน่งที่ปวดให้ผลดีในช่วงสั้น ๆ และต้องระวังภาวะแทรกซ้อนจากยา ได้แก่ เอ็นใต้ฝ่าเท้าฉีกขาด ชั้นไขมันที่ใต้ฝ่าเท้าฝ่อ ซึ่งจะส่งผลระยะยาวทำให้อาการเจ็บปวดเป็นมากขึ้นได้ การใช้ชั้นเกล็ดเลือดของผู้ป่วยมาฉีดเพื่อลดปวดให้ผลดีที่ระยะ 3 เดือน การใช้คลื่นความถี่สูง พบว่าให้ผลที่ดีร้อยละ 50- 94 เมื่อติดตามอาการไป 24 เดือน การใช้อุปกรณ์พยุงเท้า พบว่า มีประโยชน์ในช่วง 7-12 สัปดาห์ โดยช่วยลดปวดและเกิดประสิทธิภาพในการทำงานแต่เมื่อติดตามอาการระยะยาวกลับพบว่า ข้อมูลไม่แตกต่างกันกับกลุ่มควบคุม การทำ taping ในผู้ป่วย 92 คน เป็นเวลา 7 วันอาการปวดดีขึ้นแต่ไม่ต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.08)
สรุป การรักษาภาวะรองช้ำในปัจจุบัน พบว่า การรักษาแบบไม่ผ่าตัดให้ผลการรักษาที่ดีมากกว่าร้อยละ 80 ส่วนการรักษาอย่างไรนั้นมีวิธีการรักษาที่ต่างกันในหลาย ๆวิธี แต่หัวใจสำคัญคือ การยืดเอ็นร้อยหวาย เอ็นใต้ฝ่าเท้าให้ดี ใช้รองเท้าที่มีอุ้งเท้ารองรับเท้าที่ดี เลี่ยงการใช้รองเท้าส้นสูง และไม่ออกกำลังกายเกินกำลัง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บรรเทาอาการภาวะรองช้ำดีขึ้นได้และค่อย ๆหายไปในที่สุด