การรับรู้สิทธิประโยชน์ของบัตรประกันสุขภาพและบัตรประกันสังคมในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และบุคลากร ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้สิทธิประโยชน์ของสิทธิประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและบุคลากรของโรงพยาบาล เปรียบเทียบความแตกต่างด้านสิทธิประโยชน์ ของสิทธิบัตรประกันสุขภาพและสิทธิประกันสังคม การศึกษาเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลคือ แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและบุคลากรผู้ให้บริการแรงงานต่างด้าว จำนวน 11 ท่าน เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ทำการวิเคราะห์ข้อมูลแบบวิเคราะห์แก่นสาระและตรวจสอบข้อมูลโดยการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า
ผลการศึกษาพบว่า ประเด็นด้านการรับรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ของประกันสุขภาพ กลุ่มแรงงานต่างด้าวมีการรับรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการประกันสุขภาพของตนเองค่อนข้างน้อย เห็นได้จากการที่แรงงานต่างด้าวไม่ได้ทราบสิทธิประโยชน์ด้านที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ตนเองพึงได้รับอย่างครอบคลุมเท่าที่ควรแต่จะรับรู้สิทธิประโยชน์ในด้านอื่นๆ ของสิทธิประกันสุขภาพ เช่น สิทธิการได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม สิทธิในการไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการหรือจ่ายค่าบริการแค่ 30 บาท เมื่อเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล หรือรับรู้ว่าการมีประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่งจะสามารถทำงานและอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในด้านการรับรู้ของบุคลากร พบว่าบุคลากรมีความเข้าใจในความแตกต่างของสิทธิบัตรประกันสุขภาพและสิทธิประกันสังคมในประเด็นที่พบบ่อยในการให้บริการ เช่น สิทธิการได้รับยานอกบัญชี สิทธิการรักษาพยาบาลในกรณีการบาดเจ็บจากการทำงาน และเมื่อเปรียบเทียบสิทธิประกันสุขภาพทั้ง 2 สิทธิ พบว่าแรงงานต่างด้าวสิทธิบัตรประกันสุขภาพจะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานคล้ายกับบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไทย ส่วนแรงงานต่างด้าวสิทธิประกันสังคมจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลเหมือนสิทธิประกันสังคมของคนไทย เว้นแต่สิทธิในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่แรงงานต่างด้าวสิทธิประกันสังคมจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ในส่วนนี้
การศึกษานี้มีข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา เช่น ควรมีการออกแบบสิทธิประกันสุขภาพหรือควรกำหนดให้มีสิทธิประกันสุภาพเพียงสิทธิเดียวที่เหมาะสมสำหรับแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย การเพิ่มช่องทางการสื่อสารด้านสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานต่างด้าว ทั้งในส่วนโรงพยาบาลผู้ให้บริการและในส่วนของนายจ้าง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวมีความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น
Article Details
References
2. กระทรวงสาธารณสุข. มาตรการและแนวทางการดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว. สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข. 2548.
3. กระทรวงสาธารณสุข. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าว. กลุ่มงานประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข. 2557.
4. กระทรวงสาธารณสุข. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงาน ต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559. กลุ่มงานประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข. 2559.
5. จีรศักดิ์ เตียวตระกูล. การประกันตนของแรงงานต่างด้าว. TEMCA Magazine. 2557;4(พิเศษ):55-8.
6. สำนักงานประกันสังคม. แจงให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เจ็บจากงานก็ไม่ต้องกังวล 2557 .http://www.sso.go.th/wpr/content.jsp?cat=762&id=4140 [cited 2560 24 กุมภาพันธ์].
7. เอกสารประกอบการณ์สัมภาษณ์ รายการมองรอบด้าน หัวข้อเรื่อง “ต่างด้าวในไทย สิทธิ์หรืออภิสิทธิ์กันแน่”ช่อง 13 Family ออกอากาศวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2559 [press release]. 2559.
8. กุลชลี จงเจริญ, นิตยา ภัสสรศิริ. หน่วยที่ 9 การออกแบบและวางแผนการวิจัย. ประมวลสาระชุดวิชาการวิจัยเพื่อบริหารการศึกษา. นนทบุรี: สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช; 2556. : 1-62.
9. กาญจนา ผกาทิพย์, สรรพคุณ ปอยสูงเนิน, บุญสืบ โสโสม. คุณภาพชีวิตของเด็กวัยรุ่นตอนต้นโรคธาลัสซีเมีย: การศึกษาจากมุมมองด้านเพศภาวะ. วารสารวิชาการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท). 2554;2(17):87-93.
10.เบญจา ยอดดำเนิน - แอ็ตติกจ์, กาญจนา ตั้งชลทิพย์, และ มหาวิทยาลัยมหิดล. การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ : การจัดการข้อมูลการตีความและการหาความหมาย. พิมพ์ครั้งที่. นครปฐม:สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; 2552.