การศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตในผู้ป่วย กระดูกสะโพกหักจากภาวะกระดูกพรุนที่ได้รับการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกภายใน ระยะเวลา 48 ชั่วโมงกับหลัง 48 ชั่วโมง ในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค

ผู้แต่ง

  • วิชัย เติมสมบัติบวร กลุ่มงานออโธปิดิกส์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
  • ชานนท์ ชัยวิเศษ กลุ่มงานออโธปิดิกส์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
  • ปริญญา ชำนาญ กลุ่มวิจัยโรคทางคาร์ดิโอเมตาบอลิก กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
  • พงษ์นิวัฒน์ จันทนา กลุ่มงานออโธปิดิกส์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

คำสำคัญ:

ภาวะกระดูกพรุน, กระดูกหัก, การเสียชีวิต, ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด, การผ่าตัดรักษา

บทคัดย่อ

หลักการและเหตุผล: ภาวะ Closed osteoporotic intertrochanteric fracture สัมพันธ์กับผลลัพธ์การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่สูง และข้อมูลเพิ่มขึ้นชี้ให้เห็นว่า การผ่าตัดภายในระยะเวลาที่รวดเร็วสามารถทำให้ผลลัพธ์ ดังกล่าวดีขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวในผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนามาน้อยมาก ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงต้องการศึกษาอัตราการเสียชีวิตและการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษาด้วยการผ่าตัด และความสัมพันธ์กับระยะเวลาการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีภาวะ Closed osteoporotic intertrochanteric fracture ในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ
วัสดุและวิธีการ: ในการศึกษาแบบไปข้างหน้านี้ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลทางสังคมประชากรและข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วย Closed osteoporotic intertrochanteric fracture ซึ่งได้รับการผ่าตัดรักษาในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จำนวน 209 คน และศึกษาอัตราการเสียชีวิตและการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด โดยวิเคราะห์ค่าระยะเวลาการรอดชีวิตจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ผ่าตัดถึงวันที่เสียชีวิต หรือเท่ากับ 12 เดือนหากยังมีชีวิตอยู่ทำการสร้างกราฟ Kaplan-Meier curves และคำนวณและเปรียบเทียบอัตราการรอดชีวิตระหว่างกลุ่มโดยใช้สถิติ log rank test และทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการรอผ่าตัด และปัจจัยอื่น ๆ กับความเสี่ยงการเสียชีวิตและความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยใช้สถิติ Cox proportional hazard regression และ logistic regression
ผลการศึกษา: อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยเท่ากับ 76.6 (SD=10.9) ปี โดยที่ร้อยละ 65 เป็นเพศหญิง จากผู้ป่วยทั้งหมด 209 คน มี 40 คนที่เสียชีวิต คิดเป็นร้อยละการเสียชีวิตที่ 1 ปี ที่ 19.1% โดยพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงมีการเสียชีวิตที่น้อยกว่ากลุ่มที่รับการผ่าตัดหลัง 48 ชั่วโมง (9.4% และ 25.8% ตามลำดับ) ตลอดการติดตามเป็นระยะเวลา 1 ปีหลังผ่าตัด มีผู้ป่วย 61 คน (29.2%) ที่เกิดมีภาวะแทรกซ้อนอย่างน้อย 1 อย่าง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหลัง 48 ชั่วโมง มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงขึ้นถึง 2.3 เท่า และความเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะแทรกซ้อนสูงขี้นเกือบ 4 เท่า ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดภายใน 48 ชั่วโมง (Adjusted hazard Ratio 2.29 (95% CI 1.03-5.10) และ Adjusted odds ratio 3.75 (95% CI 1.83-7.66) ตามลำดับ) ค่าความสัมพันธ์ ดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงหลังการควบคุมอิทธิพลของอายุ เพศ โรคประจำตัว ASA category, Evans classification และ ชนิดของ implants
สรุป: การผ่าตัดรักษาที่ล่าช้าสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเสียชีวิตและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้นของผู้ป่วย closed osteoporotic intertrochanteric fracture ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ โปรแกรมการดูแลแบบเร่งด่วนหรือ Fast track ในการรักษาด้วยการผ่าตัดในผู้ป่วยกลุ่มนี้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-02-22