ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการให้รหัสโรค หัตถการและการผ่าตัดของผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลศิริราช (Factors influence the success of ICD coding for inpatients at Siriraj Hospital)
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการให้รหัสโรค หัตถการและการผ่าตัดของผู้ป่วยใน ที่โรงพยาบาลศิริราช และเปรียบเทียบค่า RW ที่ได้รับก่อนและหลังการตรวจสอบ ซึ่งเป็นค่าที่ใช้ในการคำนวณค่าตอบแทนที่ได้รับ (Reimbursement) ในระบบ DRG
วิธีการ : เป็นการวิจัยแบบเชิงพรรณนา โดยศึกษาเวชระเบียนของผู้ป่วยใน ที่จำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม ๒๕๕๑ โดยสุ่มตรวจ ๑% ของจำนวนเวชระเบียนทั้งหมด ซึ่งแบ่งสัดส่วนตามจำนวนเวชระเบียนของผู้ป่วยใน ที่จำหน่ายในแต่ละภาควิชา รวมจำนวนทั้งสิ้น ๗๙๐ ฉบับ และเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบบันทึกข้อมูล การตรวจสอบรหัส ICD เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลโดยวิธีแจกแจงความถี่และร้อยละหาความสัมพันธ์ ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ พร้อมทั้งสรุปผลในแบบบันทึกรายงานผลการตรวจสอบรหัส ICD
ผลการศึกษา : เวชระเบียนที่แจ้งกลับ (feed back) ไปยังภาควิชาต่าง ๆ เนื่องจากตรวจพบความผิดพลาดในการให้รหัสโรค หัตถการและการผ่าตัด มีจำนวน ๓๒๗ ฉบับ คิดเป็นร้อยละ ๔๑.๓๙ ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้อมูลรหัสการวินิจฉัยโรคอื่น (SDx) ที่ไม่ครบถ้วน ข้อมูลรหัสการวินิจฉัยโรคหลัก (PDx) หรือการวินิจฉัยโรคอื่น ไม่ถูกต้อง ข้อมูลรหัสหัตถการและการผ่าตัด (Proc) ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระยะเวลาที่นอนรักษาในโรงพยาบาล (CalLOS) มากกว่า ๓๐ วัน และมีค่า AdjRW ที่ได้หลังตรวจสอบเพิ่มขึ้นมีจำนวน ๗ ภาควิชา และลดลงมีจำนวน ๓ ภาควิชา
สรุป : ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการให้รหัสโรค หัตถการและการผ่าตัดของผู้ป่วยใน ที่โรงพยาบาลศิริราช ได้แก่ ข้อมูลรหัสการวินิจฉัยโรคอื่น (SDx) ข้อมูลรหัสการวินิจฉัยโรคหลัก (PDx) ข้อมูลรหัสหัตถการและการผ่าตัด (Proc) ที่ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง รวมทั้งระยะเวลาที่นอนรักษาในโรงพยาบาล (CalLOS) นานขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ค่า AdjRW ซึ่งเป็นค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (RW) ที่ถูกปรับตามค่าวันนอนจริงเพิ่มขึ้น