การศึกษาผลของการใช้รางจืดเป็นยาต้านพิษ

ผู้แต่ง

  • Chanthaporn Maneesen สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร

คำสำคัญ:

รางจืด, ยาต้านพิษ, ชุมพร

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลัง (Retrospective descriptive study) เก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาวิธีการใช้รางจืดรักษาโรค โดยใช้วิธีการเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลแบบจำเพาะเจาะจงทุกคน ประชากรและกลุ่มตัวอย่างคือ บุคคลที่มีประสบการณ์ใช้รางจืดกับตนเองหรือผู้ใกล้ชิดซึ่งประกอบด้วย บุคลากรที่ปฏิบัติงานในรพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 16 คน บุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลของจังหวัดชุมพร 45 คน และหมอพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร 40 คน รวมทั้งสิ้น 101 คน ศึกษาตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ค.2555 - 30 เม.ย.2556 

จากการศึกษาพบว่าโรคหรืออาการที่สามารถใช้รางจืดรักษาได้ มีดังนี้ อาหารเป็นพิษ แพ้ยา แพ้อาหาร สูดดมและสัมผัสสารเคมีเกษตร เป็นลมพิษ แมลงสัตว์กัดต่อย  โดยรูปแบบการใช้รางจืดมีทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก เช่น ใช้เป็นชาชง ใบสดเคี้ยวกลืนน้ำ กากใช้พอกแผล ใบเถารากต้มน้ำดื่ม ใช้ใบสดผสมเหล้าขาวทาแผล ระยะเวลาการหายจากโรคหลังจากใช้รางจืดพบว่า เริ่มมีอาการดีขึ้นเฉลี่ยภายใน 20 นาที อาการหายเป็นปกติเฉลี่ยภายใน 60 นาที อาการข้างเคียงหลังจากใช้รางจืด พบว่าผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้รางจืด 7 คน (ร้อยละ 6.93) โดยมีอาการดังนี้ ผู้ป่วยมีความดันโลหิตลดลงเล็กน้อย 1 คน ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เกิดอาการเวียนศีรษะ ใจสั่น 3 คน ผู้ป่วยเกิดอาการอาเจียน 3 คน (จากอาหารเป็นพิษ, เมากลอยและแพ้กุ้ง)   ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลโรคและอาการที่สามารถใช้รางจืดรักษาได้ผล ขนาดการใช้รางจืดเป็นยา วิธีการใช้รางจืดในรูปแบบต่างๆ ระยะเวลาที่รางจืดเริ่มออกฤทธิ์จนกระทั่งผู้ป่วยหายเป็นปกติ และอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อใช้รางจืดเป็นยาต้านพิษ

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-03-26