ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียดตามวิถีของชุมชนตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

Main Article Content

ทวีศักดิ์ กสิผล
อังสนา เบญจมินทร์
สุจิตรา ชัยกิตติศิลป์
ชนิกา เจริญจิตต์กุล

บทคัดย่อ

               วัตถุประสงค์ : การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียด และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการความเครียด


               วิธีการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 421 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้เทคนิคการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม พ.ศ. 2557 เครื่องมือในการวิจัย เป็นแบบสอบถามซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพของเพนเดอร์ แบ่งออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล พฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียด การรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียด การรับรู้อุปสรรคต่อพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียด การรับรู้ความสามารถของตนเองเกี่ยวกับพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียด และการรับรู้อิทธิพลความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียด วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ความสัมพันธ์


               ผลการศึกษา : พบว่า 1) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการมีพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง 2) การรับรู้ประโยชน์ของพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียด การรับรู้ความสามารถของตนเองเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียด การรับรู้อิทธิพลความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียดมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีค่าสหสัมพันธ์ (r) เท่ากับ 0.36, 0.35, และ 0.33 ตามลำดับ ส่วนการรับรู้อุปสรรคต่อพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียดมีความสัมพันธ์ทางลบโดยมีค่าสหสัมพันธ์ (r) เท่ากับ - 0.16 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01


               สรุป : ควรนำปัจจัยด้านการรับรู้ประโยชน์ การรับรู้ความสามารถของตนเอง และการรับรู้อิทธิพลความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียดมาเป็นแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการจัดการกับความเครียดของผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

Article Details

บท
บทความวิจัย